ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนทั้งเจ้าของสิทธิ์ (Franchisor) และผู้ซื้อสิทธิ์ (Franchisee) สำหรับการสนับสนุน Franchisor ประกอบด้วย การช่วยพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีที่สนใจจะขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ รวมถึงการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ระหว่าง Franchisor กับ Supplier เพื่อเพิ่มคู่ค้าให้กับ Franchisor และช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจ อีกทั้งยังมีการให้คำปรึกษากับ Franchisor ที่ต้องการเปิดตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติมอีกด้วย
นายพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนธุรกิจ Franchisee ประกอบด้วย การให้องค์ความรู้ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ และให้ผู้สนใจได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้ขายสิทธิ์แฟรนไชส์โดยตรง ซึ่งจะมีการจัดงาน 9 ครั้ง ในกรุงเทพฯ 7 ครั้ง และต่างจังหวัด 2 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกในวันที่ 5 เม.ย.นี้ และในด้านเงินทุนให้การสนับสนุนด้วยบริการสินเชื่อ K-SME Franchise credit ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, แบบหลักทรัพย์ค้ำประกัน 50%, แบบลดหย่อนการผ่อนชำระ 18 เดือนแรก และแบบใช้ บสย. เป็นหลักประกัน ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 80% ของมูลค่าการลงทุน โดยธนาคารได้เตรียมวงเงินเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ถึง 1,000 ล้านบาท และมอบส่วนลดดอกเบี้ย สำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อภายในงาน รวมถึงสิทธิในการได้รับของรางวัลพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย
ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าธุรกิจแฟรนไชส์รวม 477 ราย ยอดสินเชื่อ 1,296 ล้านบาท โดยในปี 2556 มีการตั้งวงเงินใหม่สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวน 510 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 20% เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันเน้นการขยายตัวในต่างจังหวัดมากขึ้น อีกทั้งคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่ อายุ 20-30 ปี มีความสนใจอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองมากกว่า 50% การเริ่มธุรกิจเองตั้งแต่ต้นทางจึงอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการหน้าใหม่
ปัจจุบันมีผู้ลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี ประมาณ 80,000 ราย โดยข้อมูลปี 2556 มีอัตราการเติบโตประมาณ 20% จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะห้างสรรรพสินค้าต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่ และหมู่บ้านเกิดใหม่ในพื้นที่ต่างจังหวัด จึงเป็นโอกาสให้ผู้สนใจอยากมีอาชีพตัดสินใจลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อจะไปลงในทำเลและพื้นที่ธุรกิจเกิดใหม่ต่าง ๆ นอกจากนี้พบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผู้ประกอบการมีความสนใจอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจมากที่สุดกว่า 70% คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนสาขาที่มาแรงได้แก่ กลุ่มการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันคนต้องการเพิ่มศักยภาพให้ตัวเองและลูกหลาน รวมถึงเตรียมพร้อมรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)