BBL คว้าตำแหน่งธนาคารแห่งปี 57 ฐานะแข็งแกร่ง-กำไรต่อหุ้นสูงสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 10, 2014 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2557 หรือ Bank of the Year 2014 โดยผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 35,905.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,884.10 ล้านบาท หรือ 8.73% และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 จำนวน 18.81 บาท รวมทั้งมีมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value) สูงสุดที่ 155.03 บาท

ความโดดเด่นของธนาคารกรุงเทพ นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการทำกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 3 ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารยังมุ่งเน้นในเรื่องของความแข็งแกร่งและความมั่นคงในฐานะการเงิน โดยธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 89,697.17 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่ออยู่ในอัตราที่สูงถึง 5.12% รวมทั้งยังดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมทั้งสิ้น 16.92% โดยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ 14.40% และเงินกองทุนขั้นที่ 2 ที่ 2.52%

ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับโอกาสและการเปลี่ยนแปลงที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยผสมผสานระหว่างการบริหารงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบเพื่อให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง แต่ก็พร้อมที่จะเติบโตเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ธนาคารมีการเติบโตจากลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก ลูกค้าบุคคล และลูกค้าต่างประเทศ เนื่องจากธนาคารมีการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้ธนาคารสามารถคาดการณ์ความต้องการด้านต่างๆ ของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และสามารถสนับสนุนลูกค้าในด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งธนาคารพร้อมที่จะเติบโตเคียงข้างไปกับลูกค้า สมกับปณิธานที่ได้ยึดถือมาโดยตลอด คือ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน”

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ครองอันดับ 2 โดยในปี 2556 ธนาคารยังคงสามารถสร้างผลกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์จำนวน 50,232.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,012.89 ล้านบาท หรือ 24.90% ส่วนอัตราส่วนทางการเงินทั้งสามด้านก็อยู่ในอันดับ 1 เช่นเดียวกัน ได้แก่ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) 30.45% อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 2.61% และ อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) 21.66%

ทั้งนี้ธนาคารมีนโยบายที่จะลดต้นทุนของเงินฝากให้สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันในตลาด มุ่งเสริมสร้างการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจและธุรกิจขนาดใหญ่ และลดการเติบโตของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานผ่านการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพัฒนาทักษะของผู้จัดการลูกค้าสัมพันธ์ในทุกกลุ่มธุรกิจของธนาคารเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และสร้างธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งกับลูกค้าในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ครองอันดับ 3 โดยมีรายได้รวมสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 203,847.68 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 41,324.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,065.01 ล้านบาท หรือ 17.20% โดยธนาคารได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มลูกค้า เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าตามแนวคิด “บริการทุกระดับประทับใจ” ทั้งธุรกิจลูกค้าบรรษัท ธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ และธุรกิจลูกค้าบุคคล

ด้าน ธนาคารกรุงไทย (KTB) ครองอันดับ 4 โดยมีกำไรสุทธิ 33,929.27 เพิ่มขึ้น 10,402.25 ล้านบาท หรือ 44.21% ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “กรุงไทย ก้าวไกลไปกับคุณ : Growing Together” โดยมุ่งมั่นเป็นธนาคารที่เติบโตไปพร้อมกับลูกค้า พนักงาน สังคม และผู้ถือหุ้น ส่วน ธนาคารเกียรตินาคิน อยู่ในอันดับ 5 โดยมีกำไรสุทธิ 4,418.19 ล้านบาท 1,026.90 ล้านบาท หรือ 30.28% โดยในปี 2557 จะมุ่งเน้นการการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้หลากหลาย การปรับเปลี่ยนรูปแบบของสาขาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า การหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะมาเสริมในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารไม่ได้ให้บริการ และการพัฒนาธุรกิจใหม่

ธนาคารธนชาต อยู่ในอันดับ 6 โดยมีกำไรสุทธิ 15,384.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,164.31 ล้านบาท หรือ 87.15% โดยธนาคารมุ่งมั่นที่จะเติบโตในสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ควบคู่กับการดำรงสถานะความเป็นผู้นำด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และพัฒนานโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการสินเชื่อ

ธนาคารทิสโก้ อยู่ในอันดับ 7 ซึ่งในปี 2557 ธนาคารกำหนดแผนกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายและทีมขาย โดยขยายเครือข่ายไปทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมสร้างสัมพันธ์อันดีในระยะยาวเพื่อตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับลูกค้าแต่ละราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างโอกาสทางการเงินแก่ลูกค้าทุกกลุ่ม

สำหรับอันดับ 8 มี 2 ธนาคารครองตำแหน่งร่วมกัน ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT โดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีกำไรสุทธิในปี 2556 อยู่ที่ 11,866.65 ล้านบาท ลดลง 2,758.68 ล้านบาท หรือ 18.86% ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2556 ธนาคารได้เข้าเป็นบริษัทในเครือของ MUFG กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น หลังจากที่ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) ได้ถือครองหุ้น 72%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มีกำไรสุทธิ 2,950.75 ล้านบาท ลดลง 294.09 ล้านบาท หรือ 9.06% ซึ่งในปี 2557 ธนาคารยังคงยึดหลักการดำเนินที่มุ่งเน้นถึงความต้องการของลูกค้า ทั้งในสายงานบุคคลธนกิจ และสายงานสถาบันธนกิจ โดยเน้นการสร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ล้ำหน้า การให้บริการที่รวดเร็ว เป็นมิตรและถูกต้อง ตรงกับความต้องการของลูกค้า

สำหรับอันดับ 10 ตกเป็นของ ธนาคารยูโอบี โดยธนาคารจึงยังคงไว้ซึ่งการบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง และกระบวนการทำงานที่รอบคอบ เพื่อเน้นความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจ ด้าน ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี อยู่ในอันดับ 11 โดยสามารถทำกำไรสุทธิได้เพิ่มขึ้นถึง 4,132.16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 257.43% เป็น 5,737.34 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกำหนดทิศทางการดำเนินงานปี 2557 ว่าจะเป็นธนาคารสำหรับการทำธุรกรรมเพื่อช่วยให้ลูกค้าเชื่อมโยงเครือข่ายสังคมและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง

ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) อยู่ในอันดับ 12 โดยธนาคารมีเป้าหมายหลักในการให้บริการสำหรับธุรกิจภายในประเทศทั้งสินเชื่อรายใหญ่ สินเชื่อ SME โดยอาศัยจุดแข็งของกลุ่ม ICBC ที่มีเครือข่ายทั่วโลกมาเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความสำเร็จ สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย ธนาคารมุ่งเน้นไปการขยายฐานบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น โดยชูจุดเด่นของการเป็นบัตรเครดิตสองสกุลเงินบาท-หยวน

ด้าน ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) อยู่ในอันดับ 13 ซึ่งในปี 2557 ธนาคารมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงโดยเน้นการขยายสินเชื่อธุรกิจไปฐานลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ที่มีฐานะการเงินมั่นคง และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME และลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ส่วน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย อยู่ในอันดับ 14 โดยในปี 2557 ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกกลุ่มทั้งลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่ โดยนำระบบและบริการจากกลุ่มซีไอเอ็มบีมาปรับใช้เพื่อนำเสนอบริการใหม่ๆ โดยจะใช้ความได้เปรียบจากการมีเครือข่าย 8 จาก 10 ประเทศในอาเซียนและการมีทีมงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

อันดับ 15 ยังคงเป็นของ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ซึ่งในปี 2556 สินเชื่อของธนาคารมีอัตราการเติบโต 12% โดยกลุ่มสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อยมีการขยายตัวมากกว่า 6 เท่า หรือเท่ากับ 3,600 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารสามารถพลิกฟื้นจากการขาดทุนถึง 156.84 ล้านบาท เมื่อปี 2555 มาเป็นมีกำไรสุทธิ 1.80 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารมุ่งหวังที่จะเป็นธนาคารขนาดเล็กที่ดีที่สุดในประเทศไทย เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยและไมโครไฟแนนซ์

ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2557 เป็นการจัดอันดับของนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2557


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ