ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโชห่วยจำเป็นต้องปรับตัวในเชิงรุก ปรับปรุงการให้บริการ หรือในอนาคตอาจรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ซึ่งกรมฯ จะช่วยเหลือสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ยกระดับร้านสู่ระบบมาตรฐาน และเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างโอกาสทางการตลาด รวมทั้งประสานงานร่วมกับสถาบันการเงินให้เข้ามาสนับสนุน หากจะมีการพัฒนาระบบทางการเงินของร้านค้าโชห่วยให้ดีขึ้น
สำหรับแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ ขณะนี้ดำเนินการพัฒนาไปแล้ว 73,000 ราย ใน 48 จังหวัด โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 58 จะพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้ 50% จากผู้ประกอบการทั้งหมด 500,000 รายครอบคลุมทุกจังหวัด เพราะเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งยังช่วยลดราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคได้
ส่วนการจัดงานเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-25 พ.ค.57 มีผู้ประกอบการค้าส่งเข้าร่วม 50 ราย และค้าปลีก 5,000 ราย คาดว่าจะเกิดมูลค่าซื้อขาย 500 ล้านบาท ส่วนการจัดงานครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในเดือนก.ย.57 เพื่อสร้างการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องรวม 2 ครั้ง น่าจะมีมูลค่าการซื้อขาย 1,000 ล้านบาท
ด้านนายเสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า จุดอ่อนของโชห่วย คือการขาดระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้สินค้าที่วางขายในร้านไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าซื้อ และการมีต้นทุนทางธุรกิจที่สูงมาก ทำให้โชห่วยไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้ โดยมหาวิทยาลัยได้ร่วมส่งเสริมให้โชห่วยสามารถลดจุดอ่อน ผ่านการสร้างเครือข่ายร่วมกันเพื่อลดต้นทุนและเข้าไปให้ความรู้การบริหารจัดการ ซึ่งมั่นใจว่าธุรกิจโชห่วยจะยังมีอยู่ในระบบค้าปลีกของไทยต่อไปได้แม้จะมีการแข่งขันสูงจากค้าปลีกรูปแบบอื่น