สำหรับการประชุมครั้งนี้นายกิตติรัตน์ทำหน้าที่เป็นผู้แทนกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในธนาคารโลก ที่มีสมาชิก 11 ประเทศ โดยได้กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนนโยบายด้านการพัฒนาของธนาคารโลก อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก การส่งเสริมด้านการเงินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันนโยบายบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นอกจากนี้นายกิตติรัตน์ได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้กล่าวถึงการปรับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและการเงิน เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการขจัดปัญหาความยากจนให้เหลือเพียง 3% ภายในปี 2573 รวมถึงการปรับมาตรการเฝ้าระวังทางการเงิน ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อรับมือกรณีการปรับลดมาตรการการเงินผ่อนคลายของสหรัฐ (คิวอี) และวิกฤตการเงินของยุโรป เป็นต้น
พร้อมกันนี้นายกิตติรัตน์ยังได้หารือทวิภาคีกับนาง ศรีมุลยานี อินดราวาติ กรรมการผู้จัดการของธนาคารโลก และนายเอเซล แวน ทร็อตเซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลก เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย รวมถึงกรณีที่ธนาคารโลกจะช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์ศักยภาพของไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต
นายกิตติรัตน์กล่าวในการหารือว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยปัจจุบันมีการชะลอตัวบ้างจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทย แต่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราเงินเฟ้อในระดับบริหารจัดการได้ อัตราว่างงานที่ต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในระดับต่ำ และฐานะการคลังที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง