ทั้งนี้ ในการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 12 มี.ค.57 กนง.ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% เพื่อรักษาแรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ดี ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลายเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ประกอบกับกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่แม้ว่าอาจจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงที่ยังเหลือของปี แต่ยังอยู่ในขอบเขตจำกัดในขณะนี้ ก็น่าจะส่งผลให้ กนง.สามารถที่จะรอดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เพื่อพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง.น่าจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 23 เม.ย.57
"การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินในรอบนี้ แม้ว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจจะแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา แต่จากภาพของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่ชัดเจน ประกอบกับระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่น่าจะอยู่ในระดับผ่อนคลายเพียงพอที่จะรองรับกับความเสี่ยงที่เข้ามากระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผลจากปัจจัยการเมืองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้คาดว่า กนง.สามารถที่จะรอติดตามพัฒนาการของตัวแปรต่างๆได้อีกระยะหนึ่งเช่นกัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. นับจากนี้ต่อไปจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ โดยปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป คงจะเป็นทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนประเด็นเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแรงกดดันเงินเฟ้อจากหลายปัจจัย (อาทิเช่น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศ และราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการฟื้นตัวของการใช้จ่าย )และผลกระทบของการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดที่มีต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและเสถียรภาพของค่าเงินในตลาดการเงินโลก
"คงต้องยอมรับว่าแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยไทยในอนาคต คงจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย รวมทั้ง ปัจจัยทางด้านเสถียรภาพ อาทิ สถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือน เงินเฟ้อ และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นต้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ