ม.หอการค้าฯเผยแรงงานไทยกว่า90%เป็นหนี้ ห่วงเลิกจ้างหากการเมืองยืดเยื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 24, 2014 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยกรณีมีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท จำนวน 1,200 รายทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย.57 พบว่า ปัจจุบันแรงงานไทยมากถึง 93.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีหนี้ และมีเพียง 6.3% เท่านั้นที่ระบุไม่มีหนี้ โดยผู้ที่มีหนี้สินนั้น มีหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 106,216 บาท มีภาระต้องจ่ายหนี้เฉลี่ยเดือนละ 6,639 บาท

ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ 56.1% มีภาระต้องจ่ายเดือนละ 7,412 บาท และเป็นหนี้ในระบบ 43.9% มีภาระต้องจ่ายหนี้เดือนละ 5,456 บาท ถือเป็นยอดหนี้ที่จะต้องจ่ายสูงสุดจากที่เคยสำรวจมาในรอบ 6 ปี นับจากปี 52 สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานไทยต้องแบกรับภาระหนี้มากกว่ารายได้ที่แท้จริง

"ขณะนี้ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และปัญหาหนี้สิน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของแรงงานไทย และได้ขยับขึ้นมาเป็นปัญหาอันดับแรก เพราะแรงงานส่วนใหญ่มีปัญหาจากราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้ลดลง ดอกเบี้ยสูงขึ้น และน้ำมันแพงขึ้น ที่สำคัญแรงงานไทยกว่า 90% ไม่มีอาชีพเสริมเพื่อหารายได้พิเศษ และส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ไม่ตรงเวลา เป็นปัญหาที่น่าวิตกมาก"นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับวันหยุดแรงงาน 1 พ.ค.57 นั้น คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 1,965 ล้านบาท ขยายตัว 2.3% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับจากที่ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 52 เพราะแรงงานวิตกเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าราคาแพง และปัญหาการเมือง รวมทั้งยังเห็นว่าโอกาสในการหางานใหม่ยากขึ้น ไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนงาน ทั้งๆ ที่ค่าแรงปัจจุบันไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเห็นว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนควรจะเป็นวันละ 388 บาท ไม่ใช่ 300 บาท และควรปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 498 บาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า และเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 579 บาทในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภาคธุรกิจพบว่า จะยังไม่มีการจ้างแรงงานใหม่และไม่ถึงขั้นปรับลดแรงงานลง แต่หากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพและเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องลดแรงงานลงในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ หลังจากที่ธุรกิจได้ลดเวลาทำงาน และเงินรายได้พิเศษลงแล้ว ซึ่งมีความวิตกว่าหากเกิดปัญหานี้ขึ้นจริง จะทำให้อัตราว่างงานมีโอกาสเพิ่มขึ้น 1.5-1.7% ของแรงงานทั้งหมด หรือว่างงานประมาณ 600,000 คน มากที่สุดในรอบ 10 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.7% หรือ 400,000 คน โดยประเมินบนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 0-2% แต่หากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพจะกระทบต่อภาคธุรกิจ และอาจทำให้แรงงานตกงานเพิ่มขึ้นอีก

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอาจปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จาก 7% เป็น 10% นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลง เพราะเศรษฐกิจไทยปีนี้เข้าขั้นวิกฤติ และอาจติดลบได้จากภาวะการใช้จ่าย การลงทุน ท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง และไม่เห็นว่าการปรับขึ้น VATจะช่วยเสริมการจัดเก็บงบประมาณที่ลดลงได้ เพราะขณะนี้การใช้จ่ายงบประมาณจากการเป็นรัฐบาลรักษาการยังไม่สูง จึงไม่จำเป็นต้องเร่งหาเงินเพิ่ม โดยเห็นว่ารัฐบาลควรขยายเวลาทบทวนการปรับเพิ่ม VAT ออกไปอีก 1-2 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ