ส่วนไทยจะเป็นศูนย์กลางการบิน(ฮับ) ภูมิภาคได้หรือไม่นั้น จะต้องกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะสิงคโปร์ประกาศเป็นฮับโดยดึงสายการบินใหญ่ๆ ไปใช้ฐานบินไปยุโรป ซึ่งในแง่ภูมิศาสตร์ของไทยจะเน้นเป็นฮับในเรื่องการเชื่อมต่อเครื่องที่ใช้เวลาน้อย จากปัจจุบันที่ใช้เวลาเฉลี่ย 90 นาทีเป็น 45 นาทีได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดี
ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการและระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบิน มูลค่า 1,700 ล้านบาท ช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการผู้โดยสารที่เปลี่ยนเที่ยวบินเหลือที่ 60 นาที ในระยะแรก ถือเป็นก้าวหนึ่งในการเป็นฮับนอกจากนี้จะต้องไปลดคอขวดทางห้วงอากาศและเพิ่มขีดการรองรับของท่าอากาศยานเพื่อให้รับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น
"หลักสำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องพัฒนาและเติบโตไปด้วยกัน โดยยึดถือประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเป็นฮับได้ เพื่อขยายขีดความสามารถได้สอดคล้องและทันกับการเติบโต ซึ่งในภาวะรัฐบาลขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนการอนุมัติ แต่ถ้าระยะยาวยังไม่มีรัฐบาลใหม่ก็อาจจะมีปัญหาได้" รมว.คมนาคม กล่าว
ส่วนปัญหาขาดทุนของ บมจ.การบินไทย(THAI)นั้น ต้องยอมรับว่าธุรกิจการบินภาคของสายการบินมีการแข่งขันสูงมากกว่าสนามบิน ดังนั้นการบินไทยจะต้องกำหนดกลยุทธ์ของตัวเองให้ชัดว่าจะเน้นตลาดใด เพราะปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำมีการเปิดบินเส้นทางไกลมาแข่งขันแล้ว แล้วปรับกลยุทธ์เพื่อแข่งขัน ซึ่งการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ขึ้นมาก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะสร้างความคล่องตัวในการแข่งขัน
นายวรเดช หาญประเสริญ อธิบดีกรมการบินพลเรือน(บพ.) กล่าวว่า ไทยเป็นฮับอยู่แล้ว เพราะมีผู้โดยสารทางอากาศสูงถึง 94 ล้านคนในปี 2013 รวมถึงมีผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศ เพราะมีสนามบินจำนวนมาก ขณะที่สิงค์โปร์ไม่มี แต่ปัญหาของไทยคือการพัฒนาเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานไม่ทันต่อสถานการณ์
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ปริมาณการจราจรทางอากาศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคเติบโตอย่างมาก ซึ่งปีที่ผ่านมา มีปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเกือบ 20% โดยสุวรรณภูมิมีปริมาณการจราจรทางอากาศ 669,002 เที่ยวบินต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ในปี 2030 และอยู่อันดับ 12 ของโลก
โดยหากเปรียบเทียบห้วงอากาศของไทยที่มีขนาด 513,120 ตร.กม. กับอังกฤษที่มีพื้นที่ 243,610 ตร.กม. แต่มี 2,125,984 เที่ยวบินต่อปี และเยอรมันที่มีพื้นที่ 351,168 ตร.กม. มี 2,952,624 เที่ยวบินต่อไป มากกว่าไทย 4-5 เท่า โดยไม่มีปัญหาเที่ยวบินล่าช้าดังนั้นสนามบินสุวรรณภูมิยังมีโอกาสรองรับได้ถึง 3 ล้านเที่ยวบินต่อปี
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการบินจะต้องมีความสามารถในการรองรับและมีความปลอดภัย ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหา เช่น การจุดโคมยี่เป็ง งานบุญบั้งไฟ ที่ขณะนี้รุ่นใหม่ยิงขึ้นได้สูงกว่าเดิม รวมถึงมีปัญหาการรบกวนการสื่อสารของวิทยุชุมชน