สาเหตุที่มีมติให้รฟม.ทำหน้าที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เพราะพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ระบุว่าหนึ่งในภารกิจสำคัญของ รฟม.คือการให้บริการเดินรถไฟฟ้า
นอกจากนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก จึงเป็นโอกาสดีที่รฟม.จะทำหน้าที่เดินรถในเส้นทางดังกล่าวเพื่อเป็นการนำร่องไปสู่การเดินรถในโครงการอื่นต่อไป และในอนาคตหาก รฟม.จะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมทุนนั้น การทำหน้าที่เดินรถจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
“รฟม.ควรให้บริการเดินรถอย่างน้อย 1 เส้นทาง เพื่อให้บุคลากรมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจึงเป็นโอกาสดีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการให้บริการเดินรถ หลังจากนี้รฟม.จะต้องศึกษารายละเอียดแนวทางการเดินรถเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาอนุมัติต่อไป"นางสาวรัชดี กล่าว
สำหรับรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเป็นระบบไฟฟ้ารางเดี่ยว(Monorail) ซึ่งมีข้อดีคือโครงสร้างโปร่ง วงเลี้ยวแคบ ค่าก่อสร้างต่ำ และเวนคืนที่ดินน้อยกว่า สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ 10,000-40,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง มีความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามถนนลาดพร้าวจนถึงทางแยกบางกะปิ หลังจากนั้นจะเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน 2 สาย คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ที่แยกลำสาลี และโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 จากนั้นจะตรงไปตามถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกพัฒนาการจนถึงแยกศรีเทพา ก่อนจะเลี้ยวเข้าสู่ถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง มีสถานีรถไฟฟ้ารวม 23 สถานี