"ค่าดัชนีฯ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 57 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 โดยค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ
ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ จากปัญหาการเมือง ทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุน
นายสุพันธ์ กล่าวว่า หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่ามีความจำเป็นมากที่ภาครัฐจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ประธาน ส.อ.ท.ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมีนาคมนี้ คือ ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ยุติโดยเร็วโดยใช้สันติวิธี ขณะเดียวกันภาครัฐควรหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ มีการเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังไม่มีความตกลงระหว่างกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงควรมีการกำหนดนโยบายและโครงการสนับสนุนด้านการประหยัดพลังงานให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs