ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน มี.ค.57 อยู่ที่ 64.33
"ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 12 แล้ว" นายสมชาย กล่าว
ทั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีฯ ในช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.) ของปี 57 หดตัว 7.0% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.79%
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์เดือน มี.ค.ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ความผันผวนทางการเมือง และปีก่อนมีการเร่งกำลังการผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์โครงการรถคันแรก แต่อุตสาหกรรมนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ดัชนีขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงจากการส่งออกไปยังตลาดจีน ซึ่งพบว่ามีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์และเวียดนามเพิ่มขึ้น
ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดสหรัฐและยุโรป ประกอบกับมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึง
"การเมืองเริ่ม stable มากขึ้น หน่วยงานต่างๆ พยายามผลักดันมาตรการที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน" นายสมชาย กล่าว
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า สศอ.ยังคงอัตราการขยายตัวของดัชนีฯ ไว้ที่ 1.5% แต่จะทบทวนอีกครั้งในเดือน ก.ค. ซึ่งแนวโน้มน่าจะลดลง เพราะดัชนีลดลงทุกตัว ขณะที่อัตราการเจริญเติบโต(GDP) ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 2.0-2.5% โดยสถานการณ์น่าจะฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่สองของปี 57 หลังจากการลงทุนชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการที่ค้างอยู่ราว 400 โครงการ วงเงินลงทุนราว 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการเมืองเริ่มคลี่คลาย
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า การส่งออกภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะขยายตัวในอัตรา 5% แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ขนาดตัวได้แค่ 2% แต่เชื่อว่าไตรมาสแรกน่าจะยังเป็นบวกเล็กน้อย ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีอัตราการขยายตัว 10.7% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สินค้าทุนและวัตถุดิบหดตัวลดลงราว 20%