(เพิ่มเติม) สศค.เชื่อ GDP ไทยฟื้นใน Q2/57 หลังผ่านจุดต่ำสุด คงเป้าทั้งปีโต 2.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 29, 2014 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.และไตรมาส 1/57 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและลงทุนชะลอตัว ตลอดจนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามทิศางการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกสินค้าที่หดตัวด้วยเช่นกัน

ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/57 มองว่ามีโอกาสไม่ขยายตัว หรือติดลบเล็กน้อย เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยหลายตัวมีการชะลอตัวลง

ดังนั้นจึงถือว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/57 จากสัญญาณด้านการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้นในเดือนเม.ย. หลังจากที่หลายประเทศเริ่มลดระดับคำเตือนในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ภายหลังจากที่รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกลับมาใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

โดยคาดว่าในปีนี้ การท่องเที่ยวจะเติบโตได้ 5-5.5% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวราว 28 ล้านคน ซึ่งหายไปราว 3 ล้านคน หรือประมาณ 20% ในช่วงไตรมาส 1/57 จากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ แต่เชื่อว่าตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไปสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจะกลับมาดีขึ้น

จากนั้นคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4/57 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีมากในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นผลมาจากความความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่เริ่มกลับมา หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 นี้มาจากแรงขับเคลื่อนของภาคเอกชนเป็นหลักมากกว่าแรงกระตุ้นจากนโยบายของภาครัฐ ดังนั้นเมื่อการเมืองเริ่มนิ่งแล้วภาวการณ์ผลิตและการใช้จ่าย ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะเริ่มกลับมา

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.6% จากสมมติฐานเดิมที่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายและจะสามารถมีรัฐบาลใหม่ได้ในไตรมาส 3 แต่ทั้งนี้หากยังไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่ภายในไตรมาส 3 ได้จริง ก็ยังเชื่อว่า GDP จะยังอยู่ในระดับเดิม เพราะการประเมิน GDP ไว้ที่ระดับดังกล่าวขึ้นอยู่กับปัจจัยของเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายเป็นสำคัญ ซึ่งแม้สุดท้ายจะยังไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่ได้ในไตรมาส 3 แต่ก็ยังมีเงินงบประมาณที่มาจากงบกลางสามารถนำออกมาใช้ได้ไปพลางก่อนที่จะมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 58

“เรามองว่าไตรมาสแรก GDP จะติดลบเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำสุดในปีนี้แล้ว แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะจะฟื้นตัวได้ไตรมาส 2 และความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจจะเริ่มกลับมาโตเต็มที่ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งทั้งปีนี้เรายังคาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.6%" น.ส.กุลยา กล่าว

พร้อมระบุว่า สำหรับแนวทางที่จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อจากนี้ อาจจะทำได้จากการดูแลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากมาตรการหรือนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาลไม่สามารถจะขับเคลื่อนได้ อันเนื่องจากยังเป็นรัฐบาลรักษาการ และบางนโยบายจำเป็นต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินใจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้กลไกที่พอจะมีอยู่เดิมเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปก่อน

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า จากการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 2.6% มาจากการเติบโตของ GDP ไตรมาสแรกที่ -0.2% ไตรมาสสอง 0.4% ไตรมาสสาม 2.8% และไตรมาสสี่ 7.3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ