เงินบาทปิด 32.28/29 ค่อนข้างนิ่ง รอผลประชุม FOMC-ปัจจัยใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 29, 2014 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.28/29 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 32.26/28 บาท/ดอลลาร์ ยังไม่มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเข้ามา คาดนักลงทุนรอดูผลประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในวันพฤหัส
"ค่อนข้างนิ่ง รอดูผล FOMC วันพฤหัส พรุ่งนี้ก็น่าจะนิ่งเหมือนกัน" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.25-32.35 บาท/ดอลลาร์เช่นเดิม

THAI BAHT FIX PM ณ วันที่ 29 เม.ย.57 อยู่ที่ระดับ 32.2860 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.65 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 102.50 เยน/ดอลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3868 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3859 ดอลลาร์/ยูโร
  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/57 รวมทั้งการส่งออกที่ไตรมาสแรกหดตัวนั้นก็เชื่อว่าจะดีขึ้นเช่นกัน เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ ซึ่งการเคลื่อนไหวในช่วง 32 บาท/ดอลลาร์ไม่เป็นอุปสรรรคต่อภาคการค้าของไทย ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปี 57 จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งจะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์อีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.และไตรมาส 1/57 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและลงทุนชะลอตัว ตลอดจนการท่องเที่ยวของนักท่อวเที่ยวต่างประเทศหดตัว รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามทิศางการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกสินค้าที่หดตัวด้วยเช่นกัน
  • นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 1.6% จากประมาณการเดิมไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.4% เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีความยืดเยื้อ ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง การลงทุนภาครัฐและเอกชนหดตัว ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวในอัตรา 4% ลดลงจากประมาณการไว้ที่ 5% หลังการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัว 1%
  • ผลการสำรวจโดยบริษัทวิจัย GfK เผยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเยอรมนีในเดือน พ.ค.ทรงตัวที่ 8.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.และสอดคล้องกับคาดการณของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนียังคงอยู่ที่ระดับสูง แต่ความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนกำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อบรรยากาศ
  • คณะกรรมาธิการยุโรปมีมติเห็นชอบในการจัดสรรเงินกู้รอบใหม่วงเงิน 1 พันล้านยูโร(ประมาณ 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับยูเครน เพื่อช่วยลดความผันผวนทางการคลังและดุลการชำระเงินในระยะใกล้ของยูเครน โดยความช่วยเหลือด้านการเงินในระดับมหภาค (MFA) รอบใหม่ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนยูเครน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภารัฐมนตรีของสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ระบุในรายงานว่า นโยบายเศรษฐกิจหลายประการของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า "อาเบะโนมิคส์" ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น "กระเตื้องขึ้นอย่างมาก" แต่จนถึงขณะนี้นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งไอเอ็มเอฟได้ให้คำแนะนำในการวิเคราะห์ครั้งก่อนว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน, การกระตุ้นด้านการคลัง และกลยุทธ์ด้านการขยายตัวนั้นจะส่งผลในเชิงบวก เช่น การกระตุ้นกระแสเงินทุนให้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเหล่านี้ หลังจากที่มีการแถลงนโยบายภายหลังการเข้าดำรงของนายอาเบะในเดือน ธ.ค.55 แต่แนวโน้มเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อเอเชียจนถึงปัจจุบันนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ