พร้อมกันนี้จะมีการหารือในที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.เรื่องการขยายอัตราดอกเบี้ยในกองทุนช่วยเหลือชาวนา ประเภทที่ 3 ว่าจะมีการให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.63% ต่อปี ซึ่งในเรื่องนี้จะมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ
ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า สำหรับการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนั้น ขณะนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการจัดหาแหล่งเงินทุนในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) จำนวน 1.3 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ สบน.อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นกับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
สำหรับเงินกองทุนช่วยเหลือชาวนาที่ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าไว้ว่าจะหาเงินเข้ากองทุนให้ได้ 2 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.57 นั้น คาดว่าจะได้เงินตามเป้าภายในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งถือว่าเร็วกว่ากำหนด
ล่าสุด ข้อมูลของกองทุนช่วยเหลือชาวนา ณ วันที่ 29 เม.ย.57 พบว่า กองทุนประเภทที่ 1(บริจาค) มีจำนวน 24,595,247.74 บาท กองทุนประเภทที่ 2(คืนต้น-ไม่มีผลตอบแทน) มีจำนวน 869,200,112.74 บาท และกองทุนประภทที่ 3(คืนต้น- มีผลตอบแทนร้อยละ 0.63 ต่อปี) มีจำนวน 7,525,970,873.24 บาท รวมทั้งสิ้น 8,419,766,233.72 บาท
นายลักษณ์ กล่าวว่า เพื่อให้เงินไปถึงมือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในเวลาอันรวดเร็วตามความประสงค์ของผู้ร่วมบริจาคและผู้ร่วมสมทบ คณะกรรมการกองทุนฯ ได้วางกรอบในการจัดสรรเงินดังกล่าวไปให้กับ ธ.ก.ส.อย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรตามมูลค่าข้าวเปลือกในใบประทวน เช่น ล่าสุดจัดสรรเงินกองทุนช่วยเหลือชาวนาไปแล้ว 4,500 ล้านบาท โดยกระจายไปยัง ธ.ก.ส.ทุกสาขาเพื่อส่งต่อไปยังเกษตรกรตามคิวใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส.ตามลำดับก่อนหลังอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ประมาณ 30,000 ราย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและอยู่ระหว่างรอรับเงินจำนำข้าว ธ.ก.ส.ได้ยืดเวลาการชำระหนี้เดิมที่ชาวนามีอยู่กับ ธ.ก.ส.ไปอีก 6 เดือน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการยืดหนี้ดังกล่าวแล้วจำนวน 468,860 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้จำนวน 61,000 ล้านบาท และสนับสนุนสินเชื่อก้อนใหม่เพื่อนำไปลงทุนทำการผลิตในฤดูกาลใหม่ หรือค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่จำเป็นในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี หรือร้อยละ 0.583 ต่อเดือน เพื่อลดปัญหาการไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูง และเป็นภาระหนัก โดยมีเกษตรกรที่ยื่นขอกู้ ณ สิ้นเมษายน 2557 แล้วทั้งสิ้น 130,512 ราย วงเงินกู้ 9,085 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ยังมีเกษตรกรที่ใช้วงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกรอีกจำนวน 569,988 ราย จำนวนเงิน 9,653 ล้านบาท จากมาตรการดังกล่าวทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากแล้วจำนวน 18,738 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ในเบื้องต้น 700,500 ราย
สำหรับผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ณ วันปิดโครงการคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ในภาคต่างๆ ยกเว้นภาคใต้ มีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับใบประทวนทั้งสิ้น 1,527,290 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 11.61 ล้านตัน จำนวนเงิน 190,769 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรจนถึงวันที่ 29 เมษายน 2557 แล้วจำนวน 96,053 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 5.87 ล้านตัน จำนวนเกษตรกรที่ได้รับเงินแล้ว 784,682 ราย จากยอดจัดสรรทั้งหมด 99,500 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณและเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 75,000 ล้านบาท เงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา 4,500 ล้านบาท และงบกลางที่รัฐบาลขออนุมัติมาจาก กกต.อีก 20,000 ล้านบาท