1.การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 47 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ว่าการของประเทศสมาชิกธนาคารพัฒนาเอเชีย [Asian Development Bank (ADB)] ทั้งหมด 67 ประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีฐานะเป็นผู้ว่าการของไทยใน ADB ได้มีโอกาสพบปะหารือแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์การดำเนินงานของ ADB ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเพื่อให้การช่วยเหลือประเทศสมาชิกในภูมิภาค ของ ADB มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยพิธีเปิดการประชุมฯ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2557 และมีการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเออโบลาท ดอสซาเอฟ (Mr. Erbolat Dossaev) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผนงบประมาณ (Minister of Economy and Budget Planning) ของสาธารณรัฐคาซัคสถาน ในฐานะประเทศเจ้าภาพ และการกล่าวสุนทรพจน์ของนายทาเคฮิโกะ นากาโอะ (Mr. Takehiko Nakao) ประธาน ADB ในฐานะเจ้าภาพร่วม
นอกจากนี้ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 จะมีการประชุม Governor’s Plenary Session หัวข้อ Achieving the Achievable – a Disaster Resilient Future ที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ว่าการของประเทศสมาชิกใน ADB ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติในอนาคต โดยนายกิตติรัตน์ฯ ในฐานะผู้ว่าการของไทยใน ADB จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
2. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 17 จะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2557 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นประธานร่วมของการประชุมฯ โดยจะหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ความคืบหน้ามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี [Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM)] การยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 [ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO)] เป็นองค์การระหว่างประเทศ มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย [Asia Bond Markets Initiative (ABMI)] การจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN+3 Research Group และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของ ASEAN+3 ในอนาคต
3. ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมข้างต้น นายกิตติรัตน์ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธาน ADB เพื่อติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างไทยกับ ADB อาทิ ความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศ [Country Partnership Strategy (CPS)] ระหว่างไทยและ ADB สำหรับปี 2556 - 2559 และความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) เป็นต้น และมีกำหนดหารือทวิภาคีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคาร Standard Chartered Bank ด้วย
4. นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 นายสมชัย มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มออกเสียงของไทย [Senior Officials’ Meeting (SOM)] ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อหารือภายในกลุ่มออกเสียงของไทยประจำ ADB ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย เมียนมาร์ เนปาล สิงคโปร์ และประเทศไทย และจะมีการประชุมประเทศผู้บริจาคในกองทุนพัฒนาเอเชีย Asian Development Fund (ADF) Donors Consultation Meeting ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาเอเชียให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยจะเข้าร่วมการประชุมในฐานะประเทศผู้บริจาค และในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว นายสมชัย จะเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 [ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting (AFCDM+3)] ซึ่งเป็นการประชุมหารือเตรียมการก่อนการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 17
5. ADB เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคีที่มีประเทศสมาชิกร่วมถือหุ้นจำนวน 67 ประเทศ ประกอบด้วย 48 ประเทศจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ 19 ประเทศจากภูมิภาคอื่นๆ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ADB มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกผ่านการให้เงินกู้ยืม การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ การให้คำปรึกษาหารือด้านนโยบาย การเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ และการค้ำประกัน เพื่อขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไปจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
ทั้งนี้ ไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกกำลังพัฒนา [Developing Member Countries (DMCs)] ที่ถือหุ้นใน ADB โดยร่วมเป็นภาคีสมาชิกในความตกลงว่าด้วยการสถาปนาธนาคารพัฒนาเอเชีย (Agreement Establishing the Asian Development Bank) เมื่อปี 2509 และได้มีการออกพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับ ADB พ.ศ.2509 เพื่อให้อำนาจรัฐบาลปฏิบัติการร่วมกับ ADB ตามข้อผูกพัน โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับ ADB จัดตั้งสำนักงาน ADB ประจำประเทศไทย [Thailand Resident Mission (TRM)] ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2548 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงการทำงานของ ADB กับภาครัฐ ภาคเอกชน หุ้นส่วนการพัฒนา และผู้มีส่วนได้เสียในภาคประชาสังคมของไทย