กรอบความร่วมมือครั้งนี้ ไอแบงก์ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการฮาลาลในวงเงินโครงการรวม 2,000 ล้านบาท วงเงินปล่อยกู้ต่อรายสูงถึง 100 ล้านบาท ด้วยอัตรากำไรร้อยละ 7-7.5 ด้วยการให้ บสย.ช่วยค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย ด้วยอัตราค้ำประกันเพียงร้อยละ 1.5 ของวงเงินค้ำประกัน ระยะเวลาสูงสุด 10 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้สินเชื่อเพิ่ม โดยจะเน้นกลุ่มธุรกิจอาหารสำเร็จรูปที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าประชากรอาเซียนกว่า 50% หรือประมาณ 300 ล้านคนเป็นชาวมุสลิมที่มีความต้องการในสินค้า และที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกกว่า 9 แสนล้านบาทในอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งจากการร่วมมือกันดังกล่าวคาดว่าจะส่งเสริมการเติบโตของมูลค่าส่งออกได้
ด้าน บสย.ได้ให้การสนับสนุนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Halal Trade วงเงินรวมของโครงการ 1,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย และอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันพิเศษร้อยละ 1.50 ของวงเงินค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอสามารถขอสินเชื่อกับไอแบงก์ได้
สำหรับ EXIM BANK ให้กับสนับสนุนการประกันการส่งออกภายใต้โปรแกรม EXIM 4 SMEs มีอัตราค่าเบี้ยประกันพิเศษที่คุ้มครองถึง 90% ของความเสียหาย
ส่วน สสว.ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านองค์ความรู้ การสนับสนุนช่องทางด้านการตลาด เช่น การอบรม สัมมนา การสนับสนุนการออกบูธแสดงสินค้า ขณะที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อให้คำปรึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล
นายครรชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ไอแบงก์ได้ฟื้นฟูองค์กรให้กลับมาเข้มแข็ง โดยสามารถแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ได้ถึง 20,000 ล้านบาท จากเป้าหมายของกระทรวงการคลัง 6,500 ล้านบาท โดยมีสภาพคล่องสูงถึง 28,000 ล้านบาท มีพอร์ตสินเชื่อ 117,000 ล้านบาท ยอดเงินฝาก 107,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิในปี 56 จำนวน 2,500 ล้านบาท จึงสามารถกลับมาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น เมื่อหลายหน่วยงานรัฐร่วมมือช่วยเหลือเอสเอ็มอีฮาลาลน่าจะทำให้ SMEs หรือรายย่อยมีสภาพคล่องสูงขึ้น