นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 73.9 ต้องการให้ทุกภาคส่วนหาข้อสรุปข้อตกลงก่อนการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 11.6 เห็นว่าควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เมื่อถามว่า “การปฏิรูปประเทศควรดำเนินการโดยใครหรือหน่วยงานใด" ร้อยละ 36.2 เห็นว่าควรเป็นรัฐบาลที่มาจากคนกลาง ขณะที่ร้อยละ 33.3 เห็นว่าควรดำเนินการโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่า ค่าดัชนียังคงปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 17.85 เป็น 12.75 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับจากมีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ (หรือต่ำสุดในรอบ 16 ไตรมาส) และการที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
ด้านดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 47.35 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจจะแย่ลงอีกในอีก 3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามการที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นการฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ สอดคล้องกับดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63.32 และอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่จะคอยประคองเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัว คือ การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ปัจจัยด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป
ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจ ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 81.2 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถดถอย รองลงมาร้อยละ 7.2 เห็นว่าอยู่ในช่วงตกต่ำ (Trough) มีเพียงร้อยละ1.4 ที่เห็นว่าอยู่ในช่วงขยายตัว และร้อยละ 1.4 เช่นกันที่เห็นว่าอยู่ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แล้วแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟาก คือ ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด จะพบว่า วัฏจักรมีการเคลื่อนเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นจนอาจจะกล่าวได้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ที่จุดต่ำสุดแล้ว