(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เม.ย.57 เพิ่มขึ้น 2.45%,Core CPI เพิ่มขึ้น 1.66%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 1, 2014 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน เม.ย.57 อยู่ที่ 107.47 เพิ่มขึ้น 2.45% จากเดือน เม.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.50% จาก มี.ค.57 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.)ปี 57 เพิ่มขึ้น 2.12%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) อยู่ที่ 104.64 เพิ่มขึ้น 1.66% จากเดือน เม.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.40% จาก มี.ค. 57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.)ปี 57 เพิ่มขึ้น 1.31%

"ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนเม.ย.2557 สูงขึ้น 2.45% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2556 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2556 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 2.69% เป็นผลจากราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น จากภาวะต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่สูงขึ้น จากเนื้อสุกร ผักสด รวมถึงราคาพลังงาน ทั้งแก๊สหุงต้มและน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น"นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กล่าว

โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 4.61% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้น 7.90% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 2.91% ผักและผลไม้ เพิ่ม 2.63% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 4.59% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 4.89% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 5.42% ส่วนดัชนีหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 1.33% สินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 5.02% ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่ม 1.04% เหล้า เบียร์ บุหรี่ เพิ่ม 5.83% เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการ พบว่า มีสินค้าปรับขึ้นราคา 191 รายการ สินค้าไม่เปลี่ยนแปลงราคา 196 รายการ และสินค้าราคาลดลง 63 รายการ

นางอัมพวัน กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากราคาอาหารที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นก๊าซหุงต้ม โดยประเมินว่าเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.4% ทำให้อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีแรกเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 2%

ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 2557 จะยังคงขยายตัวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 2.0-2.8% ภายใต้สมมุติฐาน คือเศรษฐกิจไทยขยายตัวภายใต้กรอบ 3-5% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 95-115 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 29-34 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนไว้อยู่

สำหรับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ในเดือนพ.ค.อีก 10 สตางค์/หน่วย จนทำให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นมาทำสถิติสูงสุดที่ 3.96 บาท/หน่วยนั้น คาดว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. และจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปีประมาณ 0.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ