โดยสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การหารือร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก โดยนายโยอิชิ เนโมโตะ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3(ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ในต้นปี 2557 เศรษฐกิจของบางประเทศมีอัตราการขยายตัวที่แผ่วลงไปบ้าง โดยเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในปี 2557 จะพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นจากการที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแรงลงและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
ขณะที่นายทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เห็นว่า ในระยะสั้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาจมีความเสี่ยงจากการปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน(QE Tapering) ของสหรัฐฯ และการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ส่วนในระยะปานกลางเห็นว่า ทุกประเทศสมาชิกควรจะ (1)ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสม (2) ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคที่มีความยืดหยุ่น (3)มีการกำกับดูแลภาคการเงินที่เข้มแข็ง (4)ให้ความสำคัญกับโครงข่ายความปลอดภัยทางการเงินของภูมิภาค(Regional Financial Safety Net) และ (5)ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ(Inequality Reduction) ผ่านการใช้เครื่องมือทางการคลัง
ในส่วนของประเทศไทยนั้น นายกิตติรัตน์ได้กล่าวถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากสถานการณ์มหาอุทกภัย ประเทศไทยได้กลับมาขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงที่ร้อยละ 6.5 อีกครั้งในปี 2555 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปี 2556 และในไตรมาสแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่า หากการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยรัฐบาลจะสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางเพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
ที่ประชุมฯ ได้หารือความคืบหน้าในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน+3 หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี(Chiang Mai Initiative Multilateralisation:CMIM) โดยเฉพาะความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของกลไกในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ CMIM และการจัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเมื่อประเทศสมาชิกต้องการรับความช่วยเหลือ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าสมาชิกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีแนวโน้มว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นควรให้อาเซียน+3 เสริมสร้างความร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund: IMF) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ CMIM และพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานของ AMRO
ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบการต่ออายุการดำรงตำแหน่งของนายโยอิชิ เนโมโตะ ผู้อำนวยการ AMRO ซึ่งจะครบวาระในเดือนพฤษภาคมนี้ไปอีก 2 ปี(จนถึงปี 2559) และขอให้ AMRO เร่งพัฒนาโครงสร้างองค์กรให้มีความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งได้เน้นย้ำให้ AMRO พัฒนาคุณภาพของรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคและของประเทศสมาชิก และให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ อาเซียน+3 จะร่วมกันดำเนินการเร่งรัดการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็ว
ที่ประชุมฯ ยังได้ติดตามการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย(Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่ 1) การเพิ่มขีดความสามารถในการค้ำประกันการออกตราสารหนี้ของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน+3(Credit Guarantee and Investment Facility:CGIF) จาก 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ CGIF สามารถให้บริการค้ำประกันการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนของอาเซียน+3 ได้มากยิ่งขึ้น และ 2) ความสำเร็จในการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วม ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยการหารือในลักษณะกลุ่มย่อยนี้จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 สามารถประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับการประชุม AFMGM+3 ครั้งต่อไปในปี 2558 จะจัดขึ้น ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยมีประเทศมาเลเซียและเกาหลีใต้ ทำหน้าที่เป็นประธานร่วม