(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 57 เหลือโต 1.8% จาก 2.9% ในปี 56

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 7, 2014 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปีนี้ที่ 1.8% ลดลงจาก 2.9% ในปี 56 เนื่องจากดัชนีการบริโภคภายในประเทศยังชะลอตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์ทางเมือง แต่เชื่อว่าภาคธุรกิจของไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังแสดงความต้องการทุนโดยรวมที่ยังสามารถรักษามูลค่าในระดับ 1.3-1.5 ล้านลบ.จากปี 56 มาถึงปีนี้ได้ โดยปีนี้สัดส่วนมูลค่าโครงการที่อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ และรอการตัดสินใจเพิ่มขึ้นเป็น 59% ของมูลค่าความต้องการทุนโดยรวม ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการยังคงมองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เพียงแค่รอจังหวะในการเดินหน้าโครงการจริงต่อไป

ในส่วนของความสนใจของผู้ประกอบการ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มองตลาดในประเทศเป็นหลัก เปลี่ยนเป็นมองตลาดต่างประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น คิดเป็นประมาณ 60% ของความต้องการทุนโดยรวม โดยที่กว่า 90% ของการลงทุนในต่างประเทศยังคงเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีขนาดมูลค่าโครงการโดยเฉลี่ยต่อโครงการประมาณ 50,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยมีความสนใจในประเทศพม่ามากขึ้น ซึ่งมีจำนวนโครงการลงทุนไปพม่าเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักของการลงทุนในต่างประเทศเป็นไปเพื่อการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการส่งเสริมสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคพื้นฐานในตลาดอาเซียน

นายวศิน กล่าวว่า สำหรับไตรมาส 1/57 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายแสดงความต้องการใช้ทุน โดยส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการรีไฟแนนท์ และการลงทุนขยายกิจการ ซื้อเครื่องจักรใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี กลุ่มอินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการเกษตร และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เริ่มมองหาตลาดในต่างประเทศมากขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยให้ความสนใจลงทุนในประเทศพม่า และในอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งมีศักยภาพของการเติบโต 5-7% ขณะที่ไทยเติบโตได้เพียง 1.8%

ขณะที่ไตรมาส 2/57 ธนาคารฯมองว่าการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการต่างๆยังคงมีค่อนข้างน้อย เนื่องด้วยผู้ประกอบการคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาว จึงชะลอการตัดสินใจการลงทุนไปก่อน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงซบเซา โดยปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าอยู่ในสายงานบรรษัทฯทั้งสิ้น 17,000 ราย

ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศจะกลับมาได้ตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นไป เนื่องด้วยมองว่าหากแม้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในครึ่งปีหลังนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ การบริโภคครัวเรือน อาจจะยังไม่สามารถกลับมาได้ทัน ขณะที่การส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์จะเข้ามาสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ในปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป จากไตรมาสแรกติดลบอยู่ 1% เนื่องจากฐานที่สูงในปี 56 โดยคาดว่าทั้งปีการส่งออกจะเติบโตได้ 5%

"ลูกค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการชะลอการตัดสินใจสูงถึง 40% และจำนวนโครงการต่างๆที่ออกมามีลดลงเหลือ 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 30% เนื่องด้วยปัจจัยการชะลอตัวของประเทศเข้ากดดัน ขณะที่ก็มองว่าหากการเมืองชัดเจน ก็มองว่าผู้ประกอบการก็น่าจะกลับมาลงทุนได้ในปี 58 เป็นต้นไป"นายวศิน กล่าว

ขณะที่แนวโน้มความต้องการทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจตลาดต่างประเทศมีมากขึ้น สอดร้บกับแนวโน้มการพื้นตัวของตลาดโลก โดยพบว่าการฟื้นต้วของเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ตัดสินใจลด QE ลงเหลือ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากดัชนีทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มการเติบโตเป็น 1.5% ในปี 57 จาก 1.2% ในปี 56 รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไปจากการออกมาตรการทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ

นายวศิน กล่าวว่า การที่ธนาคารผลักดันกลยุทธ์ Transaction Banking ทำให้ธนาคารสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนทางการตลาดของปริมาณธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่เติบโตเป็น 17% ในไตรมาสแรกของปี และมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมได้ตามเป้าหมายในสิ้นปี โดยตั้งเป้าสัดส่วนค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 44.9% ในปี 56 เป็น 47 ในปีนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อคงค้างจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 5-7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ