"ปิยสวัสดิ์"แนะรื้อโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนกลไล-ป้องกันการแทรกแซง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 7, 2014 18:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยสวัสดิ์ อัมะนันทน์ อดีตรมว.พลังงาน ในฐานะประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานสัมนาเรื่อง"พลังงานไทย ปฎิรูปอย่างไรให้ถูกทาง"ว่า ปัญหาพลังงานของประเทศไทยมาจากการนำเข้าพลังงานสูง โดยมียอดนำเข้าสุทธิ 1 ล้านล้านบาท และมีปริมาณสำรองจำกัด ซึ่งยิ่งน่าเป็นห่วงว่าปริมาณสำรองมีแนวโน้มลดลง จึงจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานมากและในราคาที่สูง จึงจะส่งผลค่า Ft ที่ติดรวมในโครงสร้างค่าไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันโครงสร้างราคาพลังงานของไทยบิดเบือนค่อนข้างมาก โดยน้ำมันเบนซินมีราคาแพงเกินไป เพราะถูกหักเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและเก็บภาษีสูงมาก ในขณะที่ดีเซลแทบไม่มีการเก็บภาษี ส่วนราคาขายก๊าซธรรมชาติ(NGV)ก็ต่ำเกินไป นอกจากนี้มีการแทรกแซงจากรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่เอาใจประชาชนระยะสั้น แต่จะส่งเสียต่อประเทศในระยะยาว

ดังนั้น จึงเสนอให้มีการปฏิรูปพลังงานด้วยการปรับโครงสร้างราคา เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยราคาพลังงานควรจะสะท้อนตลาดที่แท้จริงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม รวมทั้งควรจะสะท้อนต้นทุนด้วย เพื่อให้มีการแข่งขันที่แท้จริง ปัจจุบัน บมจ.ปตท.(PTT)มีส่วนแบ่งการตลาดพลังงานในประเทศมากเกินไป ทำให้เกิดข้อสงสัยในการกำหนดราคา นอกจากนั้น ยังเห็นวา ปตท.ควรแยกธุรกิจท่อก๊าซออกมา อาจให้ฝ่ายรัฐถือหุ้นเกิน 50% ได้ แต่ไม่ควรเต็ม 100% และเปิดให้บุคคลที่ 3 ร่วมใช้ท่อก๊าซได้

นายปิยสวัสดิ์ ยังเสนอให้หยุดการแทรกแซงกิจการพลังงานจากฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์โดยส่งคนของตัวเองมาเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร จึงควรแยกฝ่ายการบริหาร และฝ่ายกำกับนโยบาย โดยจะต้องไม่ส่งข้าราชการประจำเข้ามาเป็นกรรมการ และการบริหารงานก็ไม่ต้องส่งเรื่องไปที่กระทรวงที่จะส่งผ่านให้คณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการลงทุนหรือแต่งตั้งบุคคลที่เข้าบริหารงาน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ควรจะทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ยากขึ้น ฉะนั้นรัฐควรลดการถือครองสัดส่วนหุ้นให้ต่ำกว่า 50%

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานควรเร่งหาข้อยุติการเปิดแปลงสัมปทานรอบใหม่ หรือรอบที่ 21 และเร่งการเจรจากับกัมพูชาและเร่งหาข้อยุติในการร่วมมือในแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่ไทยจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ปรับปรุงพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมภาคเหนือที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหมปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าในการพัฒนา อีกทั้งมุ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานอย่างมรประสิทธิภาพ

"ราคาพลังงานต้องสะท้อนกลไกตลาด ถ้าเราไม่ทำ การผลิตก๊าซของเราก็ลดลง การนำเข้า LNG มากขึ้น จะทำให้ค่าไฟสูงขึ้นในอีก 10, 20, 30 ปีอีกมาก การปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องที่รัฐบาลร้องเอาไปทำ รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

แท็ก การนำเข้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ