ม.หอการค้า ประเมินภาพรวม GDP ปี 57 อาจโตแค่ 1-2% รอดูการเมือง พ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอกาค้าไทย ระบุว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ เตรียมพิจารณาปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ลงอีกรอบในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ จากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินว่าจะขยายตัวได้ราว 2.5% เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจับตาบรรยากาศการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในช่วงเดือน พ.ค.นี้

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นประเมินว่า GDP ในปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้เพียง 1-2% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้จะติดลบราว 1-2% ขณะที่ไตรมาสสองติดลบ 1 ถึงขยายตัว 1% ซึ่งจะมีผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะไม่ขยายตัวหรือติดลบ 1% ซึ่งถือว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรก เพราะ GDP ติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส แต่ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสสองจะต้องรอดูตัวเลขการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญประกอบด้วย

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังนั้น หากสามารถเดินหน้าจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ได้เร็ว ก็จะทำให้ GDP โตได้ราว 3-4% แต่หากภาวะของรัฐบาลรักษาการยังคงลากยาวต่อเนื่องไปและยังมองไม่เห็นโอกาสของการมีรัฐบาลใหม่ก็คาดว่า GDP ในช่วงครึ่งปีหลังอาจโตเพียง 0-3%

“หากไม่มีหลักประกันว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ในราวเดือน ก.ย.-ต.ค. ก็จะมีผลอย่างมากต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า...ถ้าประเทศเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ก็น่าจะมีเม็ดเงินลงไปอย่างน้อย 3-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังพอจะหวังให้ GDP ปีนี้โต 2-3% ได้ แต่หากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น ประชาชนจะขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจ GDP ก็มีโอกาสจะหลุดลงมา 2% และถ้ายิ่งมีม็อบหรือมีการปะทะกันรุนแรง มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีก ภาคการท่องเที่ยวและภาคการจับจ่ายใช้สอยจะยิ่งกระทบหนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจบอบช้ำ GDP อาจจะหลุดไปที่ 1% ได้" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การมีรัฐบาลใหม่ได้เร็วเท่าใดก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นสถานการณ์ทางการเมืองไทยในเดือน พ.ค.นี้ จะถือเป็นปัจจัยตัวสำคัญในการตัดสินเศรษฐกิจของไทย

นายธนวรรธน์ คาดว่า การบริโภคของประชาชนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่สัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใด เพราะผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

“ดัชนีความเชื่อมั่นที่ต่ำลงจะเป็นตัวกดระบบเศรษฐกิจให้ต่ำลงได้ ขณะนี้สัญญาณของกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้น ซึ่งดูได้จากการซื้อสินค้าคงทนประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลง" นายธนวรรธน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ