ทั้งนี้ ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับเส้น 50 ที่เป็นค่ากลาง แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจด้านการค้าและการลงทุน ถ้าแยกดัชนีเป็น 2 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคง พบว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจอยู่ที่ 45.1 ลดลงจากเดือนก่อนที่มีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 46.8 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง การใช้จ่ายในพื้นที่ลดลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นธุรกิจมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ที่ 38.3 ลดลงจากเดือนก่อนที่มีค่า39.6เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่เกิดเหตุระเบิดอย่างรุนแรงในย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองยะลา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการและประชาชนขาดความมั่นใจในสถานการณ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 50.6 ลดลงจากเดือนก่อนที่มีค่า 51.1 แต่ผู้ประกอบการคาดหวังว่าการค้าการลงทุนในพื้นที่จะดีขึ้น จากนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงลดลงจาก 45.4 เป็น 45.1 จากการเกิดเหตุรุนแรงขึ้นตลอดเดือนเมษายน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ แม้จะมีการร่วมมือของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเพื่อเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยและเฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างเข้มงวดหลังจากเกิดเหตุระเบิดรุนแรงขึ้นแต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนคลายความกังวลลง
สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สำรวจและจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) จากผู้ประกอบการจำนวน 486 ราย