สำหรับแนวทางการหาเงินเพื่อจ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวนั้น ขณะนี้มีการวางแผนไว้หลายแนวทาง และยอมรับว่าการใช้เงินงบกลางก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่คิดไว้ แต่การดำเนินการทั้งหมดจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายด้วย
"หากจะใช้เงินงบกลางเพื่อมาจ่ายให้ชาวนาอีก คงต้องหารือกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาอีกครั้ง โดยขณะนี้ยังเหลือเงินคงค้างที่ต้องจ่ายให้ชาวนาอีก 9 หมื่นล้านบาท คงจะใช้เงินจากช่องทางเดียวโดยเฉพาะงบกลางมาจ่ายคงไม่พอ ต้องหามาจากหลายทางช่วย ๆ กัน" นายทนุศักดิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่จะให้มีการขยายขนาดกองทุนช่วยเหลือชาวนาเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาท จากเดิม 2 หมื่นล้านบาทนั้น ยืนยันว่าไม่เคยมีการเสนอให้มีการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด และส่วนตัวอยากให้ยอดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนได้ครบตามเป้าหมายภายในเดือน พ.ค.นี้จากเดิมกำหนดไว้ที่เดือน มิ.ย.57
นายทนุศักดิ์ กล่าวอีกว่า วันที่19 พ.ค.นี้ ได้เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังทั้งหมด เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานในช่วงรัฐบาลรักษาการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2556/57 ว่า ขณะนี้ธนาคารได้จ่ายเงินให้ชาวนาแล้ว 8 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 1.09 แสนล้านบาท ยังเหลือยอดค้างจ่ายอีกราว 7.2 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะทยอยจ่ายให้ชาวนาได้ครบทั้งจำนวนภายในเดือน ธ.ค.57-ม.ค.58
ในส่วนของกองทุนช่วยเหลือชาวนานั้น ยังมั่นใจว่าจะมียอดการส่งเงินสมทบครบตามเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาทภายในเดือน พ.ค.นี้แน่นอน เนื่องจากขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เตรียมนำเงินเข้าสมทบกองทุนแบบที่ 3 (รับผลตอบแทน 0.63%) อีกราว 9 พันล้านบาท จากปัจจุบันมียอดส่งเงินสมทบอยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านบาท ส่วนภาระผลตอบแทนที่ธนาคารต้องจ่ายจากการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนแบบที่ 3 นั้น คาดว่าจะอยู่ที่ 80 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณแล้ว ได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดวงเงินชดเชยจากการดำเนินงานดังกล่าวให้ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี
"วันที่ 19 พ.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการธนาคาร เพื่อหารือถึงผลการดำเนินงาน และการให้ความช่วยเหลือชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลที่ผ่านมา ผลกระทบจากการดำเนินการกองทุนช่วยเหลือชาวนา รวมถึงแนวทางในระยะต่อไปในการปฏิบัติงานของธนาคารเพื่อให้เกษตรกรทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง" นายลักษณ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการออกพันธบัตร ธ.ก.ส.นั้น ขณะนี้ได้ส่งรายละเอียดและข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นความกังวลจากการดำเนินการดังกล่าว อาทิ ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นกว่าที่ ครม.กำหนด การได้รับเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์คืนมาไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการถือครองพันธบัตรเพื่อให้รักษาการรมว.การคลังพิจารณาแล้ว