ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศและการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลในเดือน เม.ย.57 ไม่มีการดำเนินการ ทั้งนี้การรายงานการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลจะไม่รวมการ Roll over ตั๋วเงินคลัง เนื่องจากการกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลังเป็นการกู้ในรูปเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรักษาระดับเงินคงคลังให้เพียงพอกับการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยการกู้เงินในขณะหนึ่งจะไม่เกินวงเงินที่กำหนด โดย ณ ต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มีวงเงินตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ในการบริหารเงินสดรับ-เงินสดจ่ายของรัฐบาล จำนวน 102,135 ล้านบาท และกระทรวงการคลังจะทำการ Roll over ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดตามอายุของตั๋วเงินคลังในแต่ละรุ่น
ส่วนการชำระหนี้ของรัฐบาลในเดือน เม.ย.57 กระทรวงการคลังได้ชำระหนี้จำนวน 14,236.98 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การชำระหนี้ของรัฐบาลจากงบประมาณชำระหนี้ เป็นจำนวน 10,327.91 ล้านบาท โดยชำระหนี้ในประเทศ 9,866.99 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 8,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 1,866.99 ล้านบาท และชำระหนี้ต่างประเทศ 460.92 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 327.78 ล้านบาท และดอกเบี้ย 133.14 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการชำระหนี้ของรัฐบาลจากแหล่งอื่น เป็นจำนวน 3,909.07 ล้านบาท ดังนี้ (1) การชำระต้นเงินกู้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จำนวน 516.67 ล้านบาท โดยใช้เงินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้แทนหน่วยงาน ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลรับภาระ (2) การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) จำนวน 1,502.43 ล้านบาท เป็นการชำระดอกเบี้ยทั้งจำนวน โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2 (3) การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่สองฯ (FIDF 3) จำนวน 1,889.97 ล้านบาท แบ่งเป็นการชำระต้นเงินกู้ 782.67 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1 ที่ได้รับจากการโอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ รวมถึงการชำระดอกเบี้ยจำนวน 1,107.30 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2
ทั้งนี้ แหล่งเงินที่นำเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2 ประกอบด้วย (1) เงินกำไรสุทธิของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 (2) เงินที่สถาบันการเงินนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย (3) เงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ (4) เงินโอนจากบัญชีกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ฯ
ส่วนการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจนั้นมีผลการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจในเดือน เม.ย.57 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้กู้เงินในประเทศเป็นเงิน 847.72 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจเป็นเงิน 7,152.28 ล้านบาท แต่การบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจเพื่อลดต้นทุนเงินกู้และป้องกันความเสี่ยงทางการเงินในเดือนเมษายน 2557 ไม่มีการดำเนินการ