ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เล็งปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 57 หากการเมืองยังไร้ข้อสรุป

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 19, 2014 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงยืดเยื้อไม่สามารถหาทางออกในการมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ รวมทั้งหากภาคการส่งออกยังไม่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า อาจต้องมีการทบทวนปรับลดประมาณการอีกครั้ง จากปัจจุบันคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 1.3-2.4) เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความล่าช้าในการฟื้นตัวของการส่งออก ส่งผลกดดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/57 หดตัวลงถึงร้อยละ 2.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, s.a.) และหดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 1/57 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สะท้อนว่า โมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแรงลงเกือบทุกด้าน เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ เริ่มกระจายผลกระทบเป็นวงกว้างออกไป โดยจีดีพีไตรมาสแรกหดตัวลงทั้งการเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4/56) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 1/56)

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ที่ปรับฤดูกาลประจำไตรมาส 1/57 พลิกกลับมาหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีที่ร้อยละ 2.1 (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter: QoQ, s.a.) หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 (QoQ, s.a.) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 56 ในขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 0.6 (Year-on-Year: YoY) ในไตรมาส 1/57 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 (YoY) ในไตรมาส 4/56

"จากภาพเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ทรุดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองที่จนถึงขณะนี้ยังคงไร้ข้อสรุป ทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งปี 57 อาจต่ำกว่าที่ประเมินไว้" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

สำหรับ 2 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและมุมมองของนักลงทุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ และทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ที่ร้อยละ 5.0 ในกรณีพื้นฐาน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จังหวะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก น่าที่จะเริ่มทยอยปรากฏขึ้นในช่วงไตรมาส 2/57 โดยมีแรงหนุนจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าน่าจะยังประคองภาพการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่องตามสัญญาณที่บวกมากขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้จะต้องประเมินสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงประเด็นความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกบางรายการของไทยในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ประเด็นปมปัญหาการเมืองไทย เนื่องจากความขัดแย้งที่ลากยาวมานานกว่า 6 เดือนอาจเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.57 ซึ่งหากว่า ทางออกของปัญหาการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุการณ์ที่รุนแรงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสทยอยกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยที่ภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศไม่ทรุดตัวลงมากนัก ณ ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 57 ไว้ที่ร้อยละ 1.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 1.3-2.4)

อย่างไรก็ตาม หาก 2 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ปัญหาทางการเมืองและทิศทางการส่งออกยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า ก็อาจจำเป็นต้องมีการทบทวนปรับลดประมาณการอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ