(เพิ่มเติม1) KBANK ลุ้นได้รัฐบาลใหม่ครึ่งปีหลังประคอง GDP โต 1.8%, ธปท.ชี้ส่งออกที่พึ่งหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 19, 2014 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือ สภาพัฒน์ ประกาศปรับลดจีดีพี ปี 57 เหลือ 1.5-2.5% อยู่ในระดับเดียวกับที่ธนาคารกสิกรไทยได้ประเมินเอาไว้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน คือ ที่ระดับ 1.8% โดยมีสมมติฐานว่าจะมีรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลัง
"ตลาดได้คาดการณ์ไว้ระดับนึงแล้วต่อแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องลุ้นตัวแปรทางเศรษฐกิจว่าจะช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้อย่างไร เช่น อุปสงค์ในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความชะงักงันจากปัญหาทางการเมืองและสุญญากาศหลังไม่มีผู้นำรัฐบาล จึงทำให้ภาคธุรกิจเลื่อนการตัดสินใจในการลงทุนออกไป ด้านการส่งออก จะต้องลุ้นไตรมาส 3 และ 4 ว่าการส่งออกจะเร่งตัวขึ้นหรือไม่"นายกอบสิทธิ์ กล่าวในงานสัมมนา"พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จับทิศค่าเงินและดอกเบี้ยไปกับกสิกรไทย"

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ในระดับ 2% ไปจนถึงสิ้นปี เพราะมองว่าอานิสงค์ที่จะได้รับจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดดอกเบี้ยมีน้อย

"เชื่อว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพราะมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยที่ผ่านมาไม่ได้มีอานิสงค์ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร ขณะที่ปัญหาทางการเมืองยังกดดันความเชื่อมั่น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์เองต่างเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย ดังนั้นแม้จะมีการลดดอกเบี้ยก็ไมีได้ช่วยให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน ณ ช่วงสิ้นปี 57 คาดว่าจะอยู่ที่ 33-33.50 บาท/ดอลลาร์ สรอ. การส่งออกทั้งปีคาดว่าจะโต 5% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,250-1,350 จุด

แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่าประเด็นทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ทำให้สินทรัพย์ไทยดูมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ไม่ได้ผลตอบแทนที่สูงนัก รวมทั้งอาจจะได้เห็นความเห็นในเชิงลบของสถาบันจัดอันดับเครดิตออกมาเพิ่มเติม ซึ่งจะยังทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า

ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศขณะนี้หากยังยืดเยื้อต่อไป อาจทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆ มีการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทยใหม่อีกรอบ

"เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้น downgrade อาจจะเพียงแค่เตือนว่าจะปรับระดับ outlook จากมีเสถียรภาพมาเป็นขาลง ซึ่งจุดนี้นักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศก็รอฟัง เพราะมันจะหมายถึงต้นทุนการกู้เงินจะสูงขึ้น" นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ด้านแนวโน้มตลาดหุ้นไทย นายกอบสิทธิ์ มองว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะจบมาตรการ QE ในราวเดือนต.ค.58 ซึ่งตลาดจะต้องมีการปรับกลยุทธ์กันใหม่ นักลงทุนคงรอดูว่า เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงใด ในขณะที่ต้องติดตามว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะมีมาตรการ QE ออกมาหรือไม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มสภาพคล่องแก่เศรษฐกิจโลก และทำให้ดัชนีหุ้นไทยจะได้รับอานิสงค์ในส่วนนี้ด้วย

ทั้งนี้ ประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงสิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 1,250-1,350 จุด

น.ส.ปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส KBANK ระบุว่า ในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจโลกมีสัญญานการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้เห็นการรีบาวน์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ล่าสุดข้อมูลการจ้างงานและการบริโภคปรับตัวเร่งขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของสหรัฐฯ ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานยังไม่กลับมาดีเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ขณะที่การชะลอลงของกิจกรรมในตลาดบ้านช่วงนี้อาจเป็นแรงถ่วงเศรษฐกิจบ้าง

ส่วนในยูโรโซนนั้น แม้จะเห็นกิจกรรมของยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนและความเชื่อมั่น แต่ยังไม่เพียงพอจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเร่งขึ้นได้ นอกจากนี้ การส่งผ่านของนโยบายการเงินในยูโรโซนยังเป็นไปได้ไม่เต็มที่ สะท้อนจากความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนที่อ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ก็เริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวบ้างแล้ว

ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงเห็นการชะลอลงอย่างต่อเนื่อง และตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ 7.3% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5% แม้ผู้กำหนดนโยบายยังไม่มีแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างชัดเจนนัก แต่การปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นการช่วยหนุนความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกในทางอ้อมให้แก่จีนได้

ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้นยังแสดงสัญญานที่อ่อนแอ ส่วนใหญ่เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน โดยผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดมากขึ้น คือการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความกังวลต่อการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

"หากดูโครงสร้างเศรษฐกิจการลงทุนผ่าน FDI ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ เนื่องจากก่อให้เกิดการส่งออกและการจ้างงานในประเทศ ดังนั้นหากการเมืองลากยาวอาจส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อประเทศได้" น.ส.ปารีณา กล่าว

ด้านนายยรรยง ไทยเจริญ หัวหน้านักยุทธศาสตร์อาวุโส กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่า การส่งออกจะยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากตัวขับเคลื่อนหลักอื่นๆ ติดลบเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ตลอดจนการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน โดยมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เห็นชัดเจนขึ้นในปีนี้จากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่าจะโตได้ 3.5% นั้น จะมาจากการเติบโตที่แข็งแรงขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก

ดังนั้น ปัจจัยนี้จึงช่วยหนุนให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถทำได้มากขึ้นในปีนี้ โดยสินค้าไทยที่เห็นสัญญาณการส่งออกที่ดีขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์

"จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน จะทำให้การส่งออกของไทยเติบโตดีขึ้นอย่างช้าๆ...trend การส่งออกไปสหรัฐฯ ดีขึ้น ยุโรป ญี่ปุ่นก็ดี แต่ความชัดเจนจะอยู่ที่สหรัฐฯ มากกว่า โดยปีนี้คาดว่าการส่งออกไทยอาจจะโตใกล้เคียง 4.5%" นายยรรยง กล่าว

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวค่อนข้างแข็งแรงในปีนี้ จะช่วยทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นพร้อมๆ กันหลายตัว เช่น สินทรัพย์ภาคครัวเรือนและอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงขึ้น, ปัญหาหนี้สินของสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้น และภาคธนาคารสามารถแก้ปัญหาหนี้เสียได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ