ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 58 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 โดยค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนเม.ย. ได้แก่ ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากการที่ไม่มีมีรัฐบาลที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการต้องการเรียกร้องให้ยุติปัญหาการเมืองในประเทศโดยเร็ว เพื่อให้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างวัตถุดิบและพลังงาน รวมทั้งการขาดสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจากความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ จะเห็นได้จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันในเดือนเม.ย.มีวันทำงานน้อยกว่าเดือนอื่นๆ จากเทศกาลสงกรานต์ จึงทำให้การใช้กำลังการผลิตลดลงด้วย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.1 ในเดือนมี.ค.โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ประธาน ส.อ.ท.ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนเม.ย.นี้ คือ ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ยุติโดยเร็วโดย ขอให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจากัน และต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยต้องการให้สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเร่งหามาตรการกระตุ้นการส่งออก และต้องมีนโยบายสนับสนุนการค้าชายแดนให้สะดวกคล่องตัวมากขึ้น