ทั้งนี้ แม้การรัฐประหารจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจส่งผลดีหากการรัฐประหารสามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานลงได้ ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยธุรกิจทุกประเภทมีผลการดำเนินงานที่ค่อยๆ ถดถอยลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การจัดทำงบประมาณภาครัฐล่าช้า โดยงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประมาณสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งสิ้น
นอกจากนี้ บรรยากาศในการลงทุนก็สูญเสียไป โดยในไตรมาสแรกของปี 2557 การลงทุนของภาครัฐและเอกชนโดยรวมลดลงกว่า 9.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ มูลค่าโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 ก็ลดลงไปถึง 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากประมาณ 328,500 ล้านบาทในปี 2556 เหลือเพียง 43,500 ล้านบาทในปี 2557
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง คาดว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในระยะสั้นจากการประกาศกฎอัยการศึกและรัฐประหาร อย่างไรก็ตามธุรกิจดังกล่าวคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำที่เป็นที่นิยมในขณะนี้ สำหรับธุรกิจบางประเภทอาจจะไม่ได้รับผลกระทบในทันทีแต่ก็น่าจะได้รับผลกระทบในไม่ช้า โดยคาดว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างน่าจะได้รับผลกระทบในระยะปานกลาง ทั้งนี้ เนื่องจาก ณ สิ้นปี 2556 บริษัทหลายแห่งในธุรกิจเหล่านี้มียอดขายที่รอการรับรู้รายได้ค่อนข้างมาก ดังนั้น ผลกระทบด้านลบอาจจะเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2558 เมื่อยอดขายสะสมล่วงหน้าดังกล่าวมีการทะยอยรับรู้รายได้และค่อยๆหมดไป
ในส่วนของภาคธนาคารคาดว่าจะเห็นสัดส่วนของสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 สัดส่วนของสินเชื่อด้อยคุณภาพเทียบกับสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.02% จาก 2.88% ณ สิ้นปี 2556 อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งเชื่อว่าธนาคารเหล่านี้มีการคงปริมาณสำรองเพียงพอที่จะรองรับความสูญเสียที่เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2557 ปริมาณสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญโดยรวมของธนาคารทั้ง 11 แห่งคิดเป็น 133% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะช้ากว่าช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทั้งนี้ เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก โดยสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ สิ้นปี 2556 สูงถึง 82.3% จากที่ระดับ 47.6% ในปี 2549 นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณภาครัฐก็มีความล่าช้ากว่ามากจากการที่ประเทศไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มบริหารงานมาเป็นเวลานาน รวมถึงการส่งออกที่มีแนวโน้มจะเติบโตในอัตราที่น้อยกว่าในช่วงปี 2549 โดยมูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2557 หดตัวลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะเติบโตเพียง 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในขณะที่ในปี 2549 การส่งออกเติบโตถึง 17%