ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้นำเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่ออนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะ และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินและค้ำประกันให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน สำหรับโครงการรับจำนำข้าว ในวงเงินไม่เกิน 92,431 ล้านบาท ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยการกู้เงินครั้งนี้จะทำในลักษณะ Term Loan ในช่วงแรกมีวงเงิน 50,000 ล้านบาทก่อน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 40,000 ล้านบาทจะดำเนินการภายหลัง
สำหรับรูปแบบและเงื่อนไขการกู้เงินมีดังนี้ วงเงิน 50,000 ล้านบาท วงเงินขั้นต่ำที่เข้าร่วมประมูล 2,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 3 ปี นับจากวันเบิกเงินกู้งวดแรก กำหนดวันยื่นประมูลงวดแรกไม่เกิน 30,000 ล้านบาทในวันที่ 6 มิ.ย. 57 งวดที่ 2 ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ในวันที่ 13 มิ.ย. 57 โดยจะเบิกเงินกู้จากธนาคารที่เสนอดอกเบี้ยต่ำกว่าก่อน
สำหรับอัตราดอกเบี้ยจะอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 6 เดือน ตามประกาศของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นฐานการในการคำนวณดอกเบี้ย (ทศนิยม 4 ตำแหน่ง) และปรับอัตราดอกเบี้ย ทุกงวด 6 เดือนหากมีการเปลี่ยนแปลง กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกงวด 6 เดือนนับแต่วันเบิกเงินกู้งวดแรก กำหนดชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวนเมื่อครบกำหนดอายุเงินกู้
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า สำหรับการชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดสามารถชำระคืนเงินต้นได้ทั้งจำนวนหรือบางส่วน โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม โดยจะชำระคืนหนี้แก่ธนาคาร/หรือ เงื่อนไขที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าก่อน โดยจะแจ้งใหทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ
ทั้งนี้ การค้ำประกัน กระทรวงการคลังค้ำเงินประกันเงินต้น ดอกเบี้ย โดยใช้สัญญามาตรฐานกระทรวงการคลัง ผู้รับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย คือ รัฐบาล
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การกู้เงินครั้งนี้จะได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินเป็นอย่างดี เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนทางกฎหมายได้ถูกขจัดหมดสิ้นแล้ว นอกจากนี้ เงินที่ได้จากการกู้ยืมครั้งนี้ ธ.ก.ส.จะนำไปจ่ายหนี้ให้เกษตรกรโดยเร็วและ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป
"การจัดหาเงินรับจำนำข้าวภายใต้รัฐบาลรักษาการชุดที่แล้วไม่สามารถกระทำได้เพราะความไม่ชัดเจนด้านกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ได้ห้ามรัฐบาลรักษาการกระทำการบางอย่างในช่วงการยุบสภา สถาบันการเงินจึงไม่มีความมั่นใจที่จะให้กู้ยืมในช่วงที่ผ่านมา"นายพงษ์ภาณุ กล่าว