ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะกลับมาหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นมาตรการในภาพรวมของ 7 องค์กร และเตรียมนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ต่อไป
นายอิสระ มองว่า ขณะนี้ภาคเอกชนเริ่มมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในเบื้องต้น โดยเฉพาะประเด็นผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้มองว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้มากกว่า 2% แต่สถานการณ์ในระยะยาวคงยังไม่สามารถประเมินได้ในตอนนี้
ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุถึงแนวทางการปฎิรูปและพัฒนาเศณษฐกิจสำหรับระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งที่ประชุมได้วางกรอบไว้ 7 ด้าน เพื่อให้แต่ละองค์กรไปหาแนวทางดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. การลงทุนของภาครัฐและเอกชน 3.การศึกษาและนวัตกรรม 4.ด้านสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำ 5.ธรรมาภิบาล 6.การพัฒนากฎระเบียบของภาครัฐ และ 7.โครงสร้างใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม คสช.ควรเร่งแก้ปัญหาเฉพาะเร่งด่วน คือ การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างประเทศให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่ง ส.อ.ท.เตรียมหารือกับสภาหอการค้าต่างประเทศเพื่อยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมไทยพร้อมที่จะจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าไทยต่อไปได้
สำหรับ 7 องค์กรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมหารือในวันนี้ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ส.อ.ท., สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย