ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะกลับมาหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นมาตรการในภาพรวมของ 7 องค์กร และเตรียมนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ต่อไป
นายอิสระ มองว่า ขณะนี้ภาคเอกชนเริ่มมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในเบื้องต้น โดยเฉพาะประเด็นผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้มองว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้มากกว่า 2% แต่สถานการณ์ในระยะยาวคงยังไม่สามารถประเมินได้ในตอนนี้
ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุถึงแนวทางการปฎิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งที่ประชุมได้วางกรอบไว้ 7 ด้าน เพื่อให้แต่ละองค์กรไปหาแนวทางดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. การลงทุนของภาครัฐและเอกชน 3.การศึกษาและนวัตกรรม 4.ด้านสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำ 5.ธรรมาภิบาล 6.การพัฒนากฎระเบียบของภาครัฐ และ 7.โครงสร้างใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ทางภาคเอกชนจะพยายามผลักดันข้อเสนอ 7 กรอบแนวทางในการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสภาพัฒน์ โดยมุ่งหวังจะให้ใช้เป็นแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะถาวร ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปกี่รัฐบาลก็ตาม
อย่างไรก็ตาม คสช.ควรเร่งแก้ปัญหาเฉพาะเร่งด่วน คือ การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างประเทศให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่ง ส.อ.ท.เตรียมหารือกับสภาหอการค้าต่างประเทศเพื่อยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมไทยพร้อมที่จะจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าไทยต่อไปได้
ด้านนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการทำรัฐประหารโดย คสช.นั้น ถือว่าปริมาณขายหุ้นมีไม่มาก ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงเพียงไม่กี่จุด ซึ่งยังถือว่าลดลงน้อยกว่าบางประเทศ
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการสื่อสารและทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศอยู่ตลอด เพื่อให้ทราบความชัดเจนและความคืบหน้าของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ และเห็นว่าการเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ แต่ขณะนี้มองว่าต่างชาติก็เริ่มมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งแล้ว
"เราจำเป็นที่จะต้องสื่อโดยตรง เรามีหน้าที่ทำความเข้าใจในข่าวสาร และความคืบหน้าต่างๆ เพื่อกระจายข้อมูลไปยังนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเราจะส่งต่อจากตลาดหลักทรัพย์ไปยังในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อสื่อความให้ตรงกันไปยังต่างประเทศ เราทำอยู่ตลอด" นายจรัมพร กล่าว
นายไพบูลย์ นลินทรางกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า หากมีความชัดเจนในเรื่องโรดแมปเศรษฐกิจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แล้ว ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยอาจจะมีการเดินสายเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าหากมีแผนงานในการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็น่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศให้กลับมาได้
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วงแรกที่มีการทำรัฐประหารอาจจะสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนอยู่บ้าง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป นักลงทุนเริ่มมีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น จึงเริ่มตั้งสติได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีการเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ
"ช่วงนี้ไม่น่าห่วง แต่แรกๆ นักลงทุนคงกังวล แต่พอเริ่มมีข้อมูล มีข่าวที่ชัดเจนมากขึ้น ก็ตั้งสติได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อไป" นายไพบูลย์ กล่าว
นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงแรกที่มีการรัฐประหารนั้นอาจจะส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะได้เริ่มเข้าใจว่าการเข้ามาทำรัฐประหารในครั้งนี้เป็นการเข้ามาเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่บ้านเมือง ไม่ได้เป็นการเข้ามาเพื่อแย่งชิงอำนาจ โดยปัจจุบันมองว่าการท่องเที่ยวยังค่อยประคับประคองไปได้ และคาดว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 26.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ 26.7 ล้านคน
สำหรับ 7 องค์กรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมหารือในวันนี้ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย