คมนาคมเร่งทุกหน่วยเบิกจ่ายงบปี 57 หลังพบภาพรวมช้ากว่าแผนมากกว่า 20%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 27, 2014 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดติดตามการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงคมนาคมทั้งในส่วนของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามเร่งรัดทุกเดือน โดยในภาพการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 สิ้นสุดถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ถือว่าล่าช้าและต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 20%

ทั้งนี้ มีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ทั้ง ปัญหาทางสภาพอากาศ ปัญหาในส่วนของผู้รับเหมา และปัญหาทางการเมือง โดยทุกหน่วยงานยืนยันว่า สามารถเบิกจ่ายงบประมาณและก่อหนี้ผูกพันได้ครบทันก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2557 (30 ก.ย.57) แน่นอน

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานทั้งในส่วนของงบประมาณปี 2557 โครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินงานปัญหาและอุปสรรค โครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และงบประมาณปี 2558 เพื่อรายงานต่อพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมาตรวจเยี่ยมพร้อมให้นโยบายแนวทางการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) เวลา 14.00 น. ซึ่งในส่วนงบประมาณหากนโยบายเห็นว่าลงทุนมากไปสามารถปรับลดได้

สำหรับปี 2557 กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 133,015.13 ล้านบาท ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2557เบิกจ่ายได้ 50,721 ล้านบาท คิดเป็น 38.14% ต่ำกว่าเป้าหมาย 20% (เป้าหมายต้องเบิกจ่ายให้ได้ 58%) สามารถลงนามสัญญาเพื่อก่อหนี้ผูกพันวงเงิน 38,428 ล้านบาท หรือ 28.89% รวมการเบิกจ่าย 2 ส่วนเป็นเงิน 89,156 ล้านบาทหรือ 67% ได้รับงบลงทุนจำนวน 94,383 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 22,096 ล้านบาท หรือ 23.441% ต่ำกว่าเป้าหมาย 27% (เป้าหมายต้องเบิกจ่ายให้ได้ 50.5%) สามารถลงนามสัญญาเพื่อก่อหนี้ผูกพันวงเงิน 31,019 ล้านบาท หรือ 32.86% รวมเบิกจ่าย 2 ส่วนเป็นเงิน 53,114 ล้านบาท หรือ 56.28%

โดยกรมเจ้าท่า (จท.)สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าประมาณ 20 ส่วนหน่วยงานที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายและเบิกจ่ายได้สูงสุด คือ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 47% สถาบันการบินพลเรือน(สบพ.) 29% กรมการบินพลเรือน (บพ.) 26% และกรมทางหลวง (ทล.) 30% ส่วนรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายเนื่องจากเป็นการใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามกำหนด เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย( ร.ฟ.ท.) 84% การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 64% การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 79% องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 78%

ส่วนงบลงทุนนั้นส่วนใหญ่ค่อนข้างล่าช้าเพราะยังไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ เช่น กรมการขนส่งทางบบก เบิกจ่ายได้เพียง 8% กรมเจ้าท่า เบิกจ่ายได้ 10% สนข.เบิกจ่ายได้ 14% กรมทางหลวงชนบทเบิกจ่ายได้ 16% เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ