(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย เม.ย.57 ส่งออกหดตัว 0.87%,นำเข้าวูบ 14.54% ขาดดุล 1,453 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 28, 2014 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าต่างประเทศเดือน เม.ย.57 ระบุว่า การส่งออกอยู่ที่ 17,249.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 0.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 18,702.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,453.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-เม.ย.57) การส่งออกหดตัว 0.97% มาที่ 73,460.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าหดตัว 15.19% มาที่ 74,208.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลทั้งสิ้น 747.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"การส่งออกของไทยยังคงชะลอตัวลงจากราคาสินค้าเกษตร แต่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม และตลาดหลัก ที่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากต้นปี" นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้า ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหลัก(Real Sector) ที่เป็นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งไม่รวมสินแร่และเชื้อเพลิง ทองคำ มีสัดส่วนการส่งออกในเดือน เม.ย.57 อยู่ที่ 94.20% และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 93.03% ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยการส่งออกสินค้าหลัก(Real Sector) ในเดือน เม.ย.57 เพิ่มขึ้น 0.44% แต่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 1.23%

สำหรับภาพรวมการส่งออกเดือน เม.ย.57 สินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมลดลง 0.2% โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มสินแร่ เชื้อเพลิง และทองคำ ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกสินค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก เช่น กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ขยายตัว 1.7%, 3.8%, 5.6%, และ 12.7% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มยานยนต์ และส่วนประกอบ กลุ่มสิ่งพิมพ์ กระดาษ และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 1.5%, 4.1%, 4.8% และ 16.0% ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม สินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา 7.2% โดยอาหารทะเลแช่แข็ง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา และน้ำตาล ลดลง 6.7%, 12.1%, 27.4%และ 37.2% ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ 2.1% ในทุกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหลัก โดยมีเพียงกลุ่มสิ่งทอ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่หดตัวลง 0.6%, 7.7% และ 27.6% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอื่นๆ ยังคงลดลงต่อเนื่องจากปี 56 ที่ 7.2% และ 5.6% ตามลำดับ

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 57 จะสามารถขยายตัวได้ 5% ภายใต้สมมติฐาน 1) อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.6-3.7%(ตามการคาดการณ์ของ IMF) 2) ราคาสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมโลก สูงขึ้น 1.3% และ 3) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ(ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยเท่ากับ 32.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)

ขณะที่คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 57 จะสามารถขยายตัวได้ 4.0-4.5% ภายใต้สมมติฐานเดียวกัน โดยมีปัจจัยบวกที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป คำสั่งซื้อใหม่ในเดือน พ.ค.57 สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตร และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่ากว่าเงินสกุลอื่นๆ ขณะที่ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ภัยธรรมชาติและการขาดแคลนวัตถุดิบส่งผลให้ราคาต้นทุนการผลิตสูง และการหมดอายุของ GSP ของ USA ทุกสินค้า(มีผล 1 ส.ค.56) และการถูกตัดสิทธิ GSP ของ EU เป็นบางรายการสินค้า(มีผล 1 ม.ค.57) และทุกรายการสินค้า(มีผล 1 ม.ค.58) ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.0-3.0%

ทั้งนี้ จากการสำรวจ ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า พบว่า มีค่าเท่ากับ 56.7 แสดงว่าจะมีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้น(เดือน เม.ย.57 อยู่ที่ 42.0) และผู้ประกอบการส่งออกมองว่าธุรกิจส่งออกจะดีขึ้น โดยสินค้าที่มีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ อาหาร

นางนันทวัลย์ เชื่อว่า ภาวะการค้าต่างประเทศภายหลังเกิดการรัฐประหารจะเป็นไปตามปกติ ไม่มีผลกระทบมากนัก และทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการจัดเตรียมแผนการดำเนินงานมาเสนอ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ