ส่วนภาวะการส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.) ของปี 57 ที่ยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้าของสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์-ส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์-ส่วนประกอบ ยางพารา-ผลิตภัณฑ์ยางพารา เคมีภัณฑ์ ประกอบกับสัญญาณเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ซึ่งล้วนเป็นคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคเอเชีย ก็ซบเซาลงอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปีเช่นกัน
สถานการณ์ของภาคการส่งออกดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2557 อย่างระมัดระวัง แม้จะยังคงคาดว่าจังหวะการฟื้นตัวของการส่งออกน่าจะทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2/2557 โดยมีแรงหนุนจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน และการประคองทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยก็เริ่มปรับเข้าใกล้ราคาสินค้าส่งออกของคู่แข่งมากขึ้น
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกเดือนเม.ย.2557 อ่อนแอกว่าที่คาด โดยมูลค่าการส่งออกที่ 17,249 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.87 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 3.12 ในเดือนมี.ค.2557 โดยหากไม่นับรวมการส่งออกสินแร่ เชื้อเพลิง และทองคำที่หดตัวร้อยละ 18.2 แล้ว การส่งออกสินค้าหลักของไทยจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.44 ในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ หากปรับผลจากปัจจัยเชิงฤดูกาลของเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันหยุดค่อนข้างมากออกแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มูลค่าการส่งออก (ที่ปรับฤดูกาล) ยังคงหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.1 ซึ่งนับเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และบ่งชี้ว่าการพลิกฟื้นสถานการณ์ในภาคการส่งออกยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อยต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า