(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจเม.ย.ทรงตัว-ส่งออกฟื้นตัวช้า แต่ท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 30, 2014 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.57 โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว สอดคล้องกับการใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจที่ยังกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ขณะเดียวกันการส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ช้า แม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว สำหรับภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นหลังการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
"ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นหลังเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว ประกอบในเดือนเม.ย.มีช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ภาคเอกชนหันมาส่งเสริมการขายมากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย 2 ล้านคน แต่ยังถือว่าหดตัว 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย รัสเซีย ญี่ปุ่น"นายเมธี กล่าว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาพลังงาน ดุลการค้าเกินดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศของบริษัทต่างชาติ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุน ในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล

"เชื่อว่าแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 ยังไม่น่าจะดีมากนักเนื่องจากเป็นช่วงปรับฤดูกาลของทุกปี"ธปท.ระบุ

ธปท.ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.9 ตามการผลิตยานยนต์ที่มีการเร่งผลิตไปมากในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอ ที่จะชดเชยคำสั่งซื้อในประเทศที่ลดลง การผลิตเบียร์ที่ผู้ผลิตลดระดับสต็อกเนื่องจากความต้องการสินค้าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการผลิตกุ้งแช่แข็งที่มีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากโรคระบาดในกุ้ง

การใช้จ่ายภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน อุปสงค์ภาคเอกชนยังหดตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนที่ลดลงและการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนที่โดยรวมทรงตัว เนื่องจากครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินในระดับสูงยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ตกต่ำกระทบต่อรายได้ครัวเรือน

สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ

การส่งออกสินค้าโดยรวมฟื้นตัวได้ช้า แม้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำและอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 17,092 ล้านดอลลาร์ สรอ.หดตัวร้อยละ 0.9 ตาม 1) การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่ได้รับผลจากราคายางและคำสั่งซื้อจากจีนที่ลดลง 2) การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ความต้องการจากจีนและอาเซียนชะลอตัว และ 3) การส่งออกปิโตรเลียมที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับดีขึ้นเป็นลำดับตามอุปสงค์จากประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ฟื้นตัว อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และยานยนต์กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทรงตัว ส่งผลให้ข้อมูลการนำเข้าสินค้าทรงตัวจากเดือนก่อนเช่นกัน แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 16,533 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 13.8 ตามการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเป็นสำคัญ

ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นหลังการประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 ซึ่งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับภาคเอกชนเร่งส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 2 ล้านคน แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวร้อยละ 1.7 ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย รัสเซียและญี่ปุ่น

รายได้เกษตรกรหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน จากผลของราคาโดยเฉพาะราคาข้าวที่ลดลงมากจากการระบายสต็อกของทางการไทยและการสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว และราคายางพาราที่หดตัวตามอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว รวมทั้งสต็อกของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับผลผลิต เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะข้าวที่ปริมาณน้ำเอื้ออำนวยและปาล์มน้ำมันที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน

ภาครัฐใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเบิกจ่ายค่าจ้างและเงินเดือนรวมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เบิกจ่ายได้ตามปกติ ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถทำได้เพียงบางส่วน สำหรับรายได้นำส่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะผลของฐานต่ำในเดือนเดียวในปีก่อนที่มีการโอนเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ล่าช้ามาจากเดือนมีนาคม 2556 ขณะที่รายได้จัดเก็บโดยรวมลดลงจากทั้งภาษีฐานรายได้ ฐานการบริโภค และฐานการค้าระหว่างประเทศตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 42 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลการค้าเกินดุลจากการนำเข้าที่หดตัว ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศของบริษัทต่างชาติ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ