ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/57 นั้น แม้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตัวหลักๆ ในช่วงดังกล่าวจะยังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม แต่เครื่องชี้สำคัญทางเศรษฐกิจน่าจะทยอยผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสนี้ โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2/57 เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1.0 (YoY) และน่าที่จะสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภาวะถดถอยทางเทคนิคได้ โดยจีดีพีที่ปรับฤดูกาลอาจพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.4 (QoQ, s.a.)
ทั้งนี้ ผลบวกของเศรษฐกิจไทยจากมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในรอบแรก อาจเริ่มขึ้นจากแรงกดดันที่ลดลงต่อทิศทางการใช้จ่ายของภาคเอกชนบางกลุ่ม (อาทิ การเร่งอนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชน) และความยืดหยุ่นของภาครัฐในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณทั้งในส่วนของรายจ่ายประจำและรายจ่ายด้านการลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีความเป็นไปได้มากขึ้น แม้ยังมีปัจจัยท้าทาย แม้ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน อาทิ ความกังวลต่อภาระหนี้สิน ภาระค่าครองชีพ และความเพียงพอของสภาพคล่อง จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านโดยปราศจากความรุนแรง น่าจะเอื้อให้ไทยสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้ฟื้นกลับมาได้โดยเร็ว
ขณะที่ การเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันวันที่ 1 ต.ค.57 (กระบวนการไม่ได้ล่าช้าตามที่เคยกังวลในช่วงก่อนหน้านี้) น่าจะทำให้แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 57 (ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58) เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการผลักดันงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการต่อเนื่องให้มีความคืบหน้าได้เร็วขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2557 โดยมองว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ-การเมือง (หลังผ่านพ้นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของทิศทางการเมืองไทยในช่วงเดือนพ.ค.57) น่าจะเอื้อโอกาสมากขึ้นให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ซึ่งความท้าทายในระยะข้างหน้ายังอยู่ที่การเรียกฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทิศทางการส่งออกที่อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
ดังนั้น จึงยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2557 ที่ร้อยละ 1.8 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3-2.4) ไว้ตามเดิม แต่จะติดตามผลเชิงบวกจากมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งผลักดันการใช้จ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ ซึ่งน่าจะมีอานิสงส์มากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี