กูรูหนุน คสช.ปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ชี้การตรึงราคาควรทำเพียงช่วงสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 2, 2014 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เสนอแนวคิดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย หลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนนิยมของนักการเมือง

"เป็นเรื่องดีที่ คสช.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องการปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต ที่ผ่านมามีการนำเรื่องพลังงานมาใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยม โดยการเข้าไปอุดหนุนจนทำให้รัฐขาดรายได้จำนวนมหาศาล" นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าว

ที่ผ่านมาโครงสร้างราคาพลังงานบางชนิดถูกบิดเบือน เช่น น้ำมันดีเซลที่ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท, การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในระบบรางได้

"บางอย่างควรขึ้น บางอย่างควรลด ราคาดีเซลในปัจจุบันไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์ รายได้ที่ขาดหายไปน่าจะนำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้อย่างสบาย" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงานควรต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม อย่างน้ำมันดีเซลที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าหากมีการปรับราคาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ

นอกจากเรื่องโครงสร้างราคาแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องมีการปฏิรูป เช่น การแต่งตั้งข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปเป็นคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน, การแก้ไขกฎกระทรวงที่กำหนดให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตามบ้านที่อยู่อาศัยต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม, การให้สินเชื่อการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานงานแสงอาทิตย์กับบ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น

"เรื่องนี้ควรเป็นกติกาที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับทุกรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่แค่ด้านพลังงาน หากข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการแล้วควรได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสม ไม่มากเกินควร" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ราคาพลังงานในปัจจุบันบิดเบือน จึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ขณะนี้ทาง คสช. ชะลอการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและน้ำมันดีเซล ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะมีผลระยะสั้นเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วในระยะยาวจะต้องมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เนื่องจากของการอุดหนุนราคาดีเซลตั้งแต่ปี 2554 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 1 แสนล้านบาท รวมระยะ 3 ปีอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินที่อุดหนุนราคาแอลพีจี รวมอีก 2 แสนล้านบาท ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้แล้วรวม 5 แสนล้านบาท

"อย่าไปคิดว่าคนที่ใช้ดีเซลหรือแอลพีจีเป็นคนจน ส่วนคนที่ใช้เบนซินเป็นคนรวย...ถ้าจะปรับราคาดีเซลต้องดูราคาตลาดโลก ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะเหมาะสม" นายมนูญ กล่าว

นายมนูญ กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องลดการผูกขาด และเพิ่มการแข่งขัน โดยการปรับสถานะทางธุรกิจของ บมจ.ปตท.(PTT) โดยแยกระบบท่อส่งก๊าซออกมาเพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะแนวโน้มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศจะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องทบทวนเพื่อการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบที่ 21 ซึ่งไม่ได้ดำเนินการมา 7 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพื่อแสวงหาแหล่งสำรองพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น นายมนูญ เห็นว่า ยังเป็นกลไกที่สำคัญสำหรับการดูแลราคาพลังงานให้เกิดเสถียรภาพ ไม่ให้ความผันผวนในระยะสั้นๆ แต่ไม่ใช่การเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานเหมือนที่ผ่านมา


แท็ก มาดู  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ