กกร.คาด GDP ปีนี้มีโอกาสโต 2-2.5% จากการบริโภคฟื้น-เร่งเบิกจ่ายงบรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 2, 2014 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในภาพรวม กกร.มองว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ 2.0-2.5% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบริโภคที่น่าจะฟื้นตัว จากมาตรการเร่งจ่ายเงินในโครงการจำนำข้าวให้ชาวนา จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท ที่จะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.นี้ รวมถึงด้านการลงทุนที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 57 ที่พร้อมอนุมัติอีก 7 พันล้านบาท รวมถึงการเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 ให้เสร็จก่อนเดือนก.ย.นี้

โดยในที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาการจัดทำข้อเสนอและแนวทางที่สำคัญ 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือ SME และเรียกความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยให้กลับคืนมา

สำหรับข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการสำคัญทั้ง 3 ด้าน ด้านแรกคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเร่งรัด ในการออกพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปอีก 2 ปี

นอกจากนี้จะเร่งทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งขณะนี้ยังมีเงินลงทุนที่รอการพิจารณาอีก 6.6 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ รวมทั้งเร่งเจรจาเขตการค้าเสรีเพื่อกระตุ้นกิจกรรมภาคการส่งออก และจะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเป็นกลไกในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SME เนื่องจากเวลานี้ผู้ประกอบการ SME มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ซึ่ง กกร.เห็นว่าการปล่อยสินเชื่อให้ถึงมือผู้ประกอบการที่เร็วที่สุดคือการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมีการจัดหาสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อเข้าร่วมประกันสินเชื่อกับบรรษัทประกันสินเชื่อขนากย่อม (บสย.) เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับการค้ำประกันจากเดิมที่ค้ำประกับความสูญเสียจากโครงการ บสย.ที่สูงสุดที่ 18% มาเป็น 50%

ในส่วนของมาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย มองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา ซึ่งภาคเอกชนไทยจะนำคณะไปเยือนประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมประชุมเช่น การประชุมเจรจาธุรกิจการค้าการลงทุนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ