"การมีรัฐบาลที่ทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากเดิมที่คาดกันไว้ว่าถ้าภายในครึ่งปีแรกยังไม่มีรัฐบาล เศรษฐกิจไทยอาจจะโตไม่ถึง 1% แต่ปัจจุบันเราได้เห็นแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ 2-2.5%" ประธาน กกร. กล่าว
โดยในที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาการจัดทำข้อเสนอและแนวทางที่สำคัญ 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือ SME และเรียกความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยให้กลับคืนมา
สำหรับข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการสำคัญทั้ง 3 ด้าน ด้านแรกคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเร่งรัด ในการออกพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปอีก 2 ปี
นอกจากนี้จะเร่งทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งขณะนี้ยังมีเงินลงทุนที่รอการพิจารณาอีก 6.6 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ รวมทั้งเร่งเจรจาเขตการค้าเสรีเพื่อกระตุ้นกิจกรรมภาคการส่งออก และจะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเป็นกลไกในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SME เนื่องจากเวลานี้ผู้ประกอบการ SME มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ซึ่ง กกร.เห็นว่าการปล่อยสินเชื่อให้ถึงมือผู้ประกอบการที่เร็วที่สุดคือการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมีการจัดหาสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อเข้าร่วมประกันสินเชื่อกับบรรษัทประกันสินเชื่อขนากย่อม (บสย.) เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับการค้ำประกันจากเดิมที่ค้ำประกับความสูญเสียจากโครงการ บสย.ที่สูงสุดที่ 18% มาเป็น 50%
ในส่วนของมาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย มองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา ซึ่งภาคเอกชนไทยจะนำคณะไปเยือนประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมประชุมเช่น การประชุมเจรจาธุรกิจการค้าการลงทุนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยด้วย
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนถือเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการช่วยชี้แจงให้ชาวต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทย ดังนั้นในเร็วๆ นี้จะมีการจัดสัมมนาโดยเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่มาช่วยชี้แจงถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยให้ภาคเอกชนและนักลงทุนจากต่างประเทศได้เข้าใจอย่างถูกต้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
"ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการร่วมกันกับภาครัฐเพื่อจัดเสวนา โดยเราจะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ มาพูด และเชิญเอกชนต่างประเทศมาร่วมรับฟัง เราจะชี้แจงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย และยังมีการส่งมอบที่ตรงเวลา" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ
ขณะเดียวกัน กกร.อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานมาศึกษาว่าการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) และการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) กับประเทศใดบ้างที่ใกล้จะหมดอายุ เพื่อพิจารณาว่าในขั้นตอนต่อไปจะต้องดำเนินการหรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรต่อไป
สำหรับการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นั้น ประธานส.อ.ท. มองว่า หากพิจารณาถึงคณะที่ปรึกษาของ คสช.แล้วจะเห็นได้ว่าแต่ละท่านมีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงานและบริหารงานด้านเศรษฐกิจมาก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก
ประกอบกับนโยบายของคสช.ที่จะใช้สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนนี้ ก็สอดคล้องและเป็นไปตามข้อเสนอของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาคงภาษี VAT ที่ 7%, การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งแนวทางการดังกล่าวนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างดี