สำหรับแนวนโยบายที่เร่งดำเนินการ ประกอบด้วย เร่งจ่ายเงินโครงการจำนำข้าว, โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557, คงอัตราภาษี VAT 7% ต่อเนื่องไปอีก 1 ปี, ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนที่ 22.63 บาท/กก. ไม่มีกำหนด, ตรึงราคาน้ำมันดีเซล, ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น, เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนปี 57 ที่สะดุด, ตั้งบอร์ด BOI, เร่งจัดทำงบประมาณประจำปี 58 และดูแลผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา
TMB Analytics ประเมินว่าหากมาตรการดังกล่าวเร่งดำเนินการได้อย่างเต็มที่ จะเป็นปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ผ่านการขับเคลื่อนขององค์ประกอบหลัก โดย การบริโภคจะเริ่มฟื้นตัว หลังได้อานิสงส์จากการเร่งจ่ายเงินโครงการจำนำข้าว (ล่าสุดจ่ายแล้วเกือบ 4 หมื่นล้านบาท) มาตรการพยุงค่าครองชีพ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่อนคลายมากขึ้น คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.2 จากคาดการณ์เดิม
อีกทั้ง การลงทุนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 ที่ยังค้างท่อ การเร่งจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายนนี้ และเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า รวมทั้งโครงการรถไฟรางคู่ ให้บรรจุอยู่ในงบประมาณปี 2558 ก่อให้มีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้ได้ราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลเชื่อมโยงให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม การลงทุนจะมีบทบาทผลักดันเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นในปี 2558 โดยคาดว่าในปี 2557 จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.4 จากคาดการณ์เดิม
นอกจากนี้ การผ่อนคลายระยะเวลาเคอร์ฟิวเป็นเที่ยงคืนถึงตีสี่ และล่าสุดยกเลิกเคอร์ฟิวในเมืองท่องเที่ยวบางแห่ง ได้แก่ พัทยา เกาะสมุย และจังหวัดภูเก็ต เป็นปัจจัยหนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวในภูมิภาคฟื้นตัว ถึงแม้จะไม่สามารถทดแทนตัวเลขการผ่านด่านที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ลดลงได้หมด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรดแมพดังกล่าว จะสามารถเรียกปฏิกิริยาตอบรับเชิงบวกได้จากหลายภาคส่วน แต่คงต้องติดตามถึงประสิทธิภาพของการดำเนินการมาตรการต่างๆอย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2557 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2 ได้มากน้อยขนาดไหน