พาณิชย์เตือนบริษัทเร่งส่งงบการเงินปี 57 ส่วนปี 58 ให้ส่งออนไลน์ควบคู่ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 5, 2014 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการนำส่งงบการเงินประจำปี 57 ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.57 ว่า มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 56 จำนวน 508,992 ราย แต่ในจำนวนนี้ 411,261 ราย ได้ส่งงบการเงินเพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็น 81% ของจำนวนนิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงินทั้งหมด ยังเหลืออีก 97,731 ราย หรือ 19% ที่ยังไม่ส่งงบการเงิน ซึ่งกรมฯ ขอเตือนให้รีบส่งโดยด่วน เพราะจะต้องเสียค่าปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากไม่ส่งเลย จะถูกส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะถูกเพิกถอนทะเบียนพาณิชย์ในที่สุด

สำหรับโทษของการส่งงบการเงินล่าชั้นนั้น หากล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน จะมีโทษปรับ 2,000-4,000 บาท, ไม่เกิน 4 เดือน ปรับ 8,000-48,000 บาท และเกิน 4 เดือน ปรับ 12,000-72,000 บาท แล้วแต่ประเภทของนิติบุคคล

นอกจากนี้ กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันให้นิติบุคคลทั้งที่ทำธุรกิจทั่วไป บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานบัญชีคุณภาพให้ส่งงบการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) โดยตั้งเป้าว่าในปี 58 จะให้บริการส่งงบการเงินผ่านออนไลน์ควบคู่ไปกับการส่งงบการเงินแบบเอกสาร แต่ภายในปี 60 จะให้ส่งงบการเงินออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพื่อให้งบการเงินของไทยเป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น กรมฯ สามารถนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ ประมวลผลได้ในทันที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน ขณะที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นข้อมูลในการทำธุรกิจ ยิ่งหากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะทำให้นักลงทุนได้ข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนได้เร็วขึ้น

ด้านนายชัยณรงค์ โชไชย รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้ของกฎหมายหลักประกันธุรกิจที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการผลักดัน ซึ่งหลักของกฎหมายมีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยให้ธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินอื่นๆ เช่น วัตถุดิบ สินค้าในสต๊อก ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ จากเดิมที่การขอกู้เงินจะใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ ที่ดิน อาคาร และเครื่องจักร

"หลักของกฎหมาย ก็คือ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยให้เอาทรัพย์สินที่ธุรกิจมีอยู่มาตีเป็นมูลค่าและเอาไปใช้ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ ซึ่งกรมฯ จะทำหน้าที่จดทะเบียนรับรองว่าบริษัทนี้ มีทรัพย์สินอันนั้น อันนี้ แล้วให้ธุรกิจเอาไปใช้กู้เงินจากแบงก์ ส่วนจะกู้ได้เท่าไร ยังไง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแบงก์" นายชัยณรงค์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ