โดยที่ประชุมได้สรุปประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งในระยะสั้นที่ต้องดำเนินการทันทีและในระยะกลางซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพร้อมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้เพื่อรักษารายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศที่ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 10 ของโลก รวมทั้งสื่อให้โลกเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงในประเทศไทยที่ปลอดภัย และเริ่มเห็นประกายของความหวังหลังจากต้องจมอยู่ในวังวนของปัญหาความขัดแย้งมาเกือบ 10 ปี โดยอาศัยช่องทางการสื่อสารโดยตรงของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้เข้ามาท่องเที่ยวจริง
"สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือการบูรณาการให้ข้อมูลที่จะถูกสื่อไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติของทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกันและไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีผ่านคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ที่มีพ.ร.บ.ปี 2551 รองรับเป็นการใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ปัจจุบันไม่สามารถขับเคลื่อนได้เนื่องจากกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะได้มอบหมายให้ผู้ที่เหมาะสมและมีอำนาจในการตัดสินใจมาเป็นประธาน พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นทีมเลขานุการ เชื่อว่าจะสามารถกำหนดแนวทางในการสร้างรายได้และความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยผ่านนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทันที และรักษาเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ได้"นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้ยังสามารถใช้คณะกรรมการฯนี้ในการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เนื่องจากที่ผ่านมามีหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และต่างขับเคลื่อนไปตามนโยบายของตนเอง เป็นเหตุให้การพัฒนากระจัดกระจาย และเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก ท.ท.ช.จะเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการท่องเที่ยวของประเทศให้เป็นไปอย่างมีระบบสอดรับและเชื่อมโยงกันทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวมีเอกภาพและมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ประเด็นเร่งด่วนที่ควรดำเนินการผ่านท.ท.ช.ทันที เช่นการบูรณาการงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดการสื่อสารทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพล และปัญหาการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ของสุวรรณภูมิที่ยังติดเรื่อง EIA เป็นต้น