ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลงานวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์ผลกระทบของการปรับราคาขายปลีก LPG ต่อระบบเศรษฐกิจด้วยแบบจำลอง CGE" ระบุว่า การปรับราคาขายปลีก LPG จะส่งผล
ต่อภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคเพียงเล็กน้อย โดยการเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริงและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนลดลง รวมถึงชั่วโมงการจ้างงานโดยเฉลี่ยลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้อรรถประโยชน์หรือความสุขของครัวเรือนลดลง ดังนั้นการที่รัฐมีมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยและกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยในการใช้ก๊าซหุงต้มราคาถูกจึงเป็นมาตรการที่บรรเทาผลกระทบที่ตรงจุดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ในส่วนของระดับจุลภาค พบว่า ปริมาณการใช้ LPG ของครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจขนส่งทางถนน ลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้การใช้พลังงานในภาคขนส่งลดลง การนำเข้า LPG มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันก็มีการหันไปใช้พลังงานอื่นๆ เช่น ถ่านและฟืน ไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ
พร้อมได้เสนอแนะว่า กองทุนน้ำมันมีประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในประเทศไม่ให้ผันผวนสูง แต่ไม่ควรใช้เพื่อการบิดเบือนกลไกราคาพลังงานมากเกินไปซึ่งในท้ายที่สุดจะเกิดปัญหาสะสมตามมาและแก้ไขได้ยากในภายหลัง ดังนั้นรัฐบาลควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกและโครงสร้างภาษีเชื้อเพลิงที่เหมาะสม รวมถึงสอดคล้องกับการส่งเสริมพลังงานทดแทนต่างๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ
อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--