โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ไทยสามารถทำยอดการส่งออกได้จำนวน 357,004 คัน ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 1.5%
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกหลักที่จะเข้ามามีส่วนช่วยกระตุ้นยอดต่อจากนี้ไปนั้น นอกเหนือจากการที่ค่ายรถสามารถปรับสายการผลิตมาเป็นการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้น หลังส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกจบสิ้นแล้วนั้น ได้แก่ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามทิศทางการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ภายหลังจากการควบคุมอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การเดินหน้าพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่ค้างอยู่ และการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก็น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน ขณะที่กลุ่มนักลงทุนทั้งกลุ่มที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้วและที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นับว่ายังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยอยู่มาก ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรง ก็คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นตลาดการส่งออกรถยนต์ในปีนี้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากแยกดูตามตลาดส่งออกหลักของไทยแต่ละตลาด รวมถึงประเภทของรถยนต์ที่ส่งออกไปยังแต่ละตลาดแล้ว จะเห็นได้ว่าโอกาสในการส่งออกนั้นมีแตกต่างกันออกไป โดยในส่วนของตลาดส่งออกรถยนต์นั่ง ในปี 2556 ไทยส่งออกรถยนต์นั่ง (HS code: 8703) ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 6,523 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นประมาณร้อยละ 15 อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการกลับมาผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้นของค่ายรถแล้ว การผลักดันการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหลักหนึ่งที่ส่งเสริมยอดการส่งออกรถยนต์นั่งของไทย ทั้งนี้เมื่อดูรายประเทศที่ส่งออกแล้วสามารถแบ่งกลุ่มตลาดส่งออกได้ดังนี้
ตลาดหลักเดิมที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว คือ ออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดกว่า 1,494 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 23 ของการส่งออกรถยนต์นั่งทั้งหมดของไทย ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 ด้วยมูลค่า 672 ล้านดอลลาร์ฯ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ขยายตัวกว่าร้อยละ 60 และ 15 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย เป็นประเทศหนึ่งที่น่าจับตาสำหรับการเป็นคู่แข่งในตลาดรถยนต์นั่งฟิลิปปินส์นี้
ตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ประเทศแอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ เมียนมาร์ และโปแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ติดอันดับกลุ่ม 15 ประเทศแรกที่ไทยส่งออกรถยนต์นั่งไปมีมูลค่าสูง และเพิ่งจะมีการขยายตัวของการส่งออกแบบก้าวกระโดดในปี 2556 ที่ผ่านมา เนื่องมาจากไทยเพิ่งเริ่มมีการส่งออกรถยนต์นั่งบางรุ่นไปบางประเทศอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์อีโคคาร์ที่เพิ่งเริ่มมีการผลิตและทำตลาดได้ไม่นาน ประกอบกับราคาที่ประหยัดทำให้สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นมายังไทย เช่น กรณีการย้ายฐานการผลิตจาก ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มายังไทย รวมถึงแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างก็เป็นฐานการผลิตรถยนต์และมีตลาดส่งออกเดิมของตนอยู่แล้ว ทำให้ตลาดส่งออกของประเทศเหล่านั้นถูกถ่ายโอนมายังไทยด้วยเช่นกัน เช่น กรณีนิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนี้ บางตลาด เช่น เมียนมาร์ ยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มในการขยายตัวสูงในอนาคตแม้เพิ่งเปิดประเทศไม่นาน และยังมีชายแดนติดต่อกับไทย ทำให้การขนส่งรถยนต์ข้ามแดนสามารถทำได้ง่าย โดยเฉพาะถ้ามีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
ส่วนตลาดรถยนต์นั่งหลักเดิมที่เริ่มมองเห็นทิศทางการหดตัวลงในขณะนี้มี 2 ตลาด คือ อินโดนีเซีย ซึ่งนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,038 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของการส่งออกรถยนต์นั่งทั้งหมดของไทย และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่าการส่งออก 279 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งจากไทยไปยัง 2 ประเทศนี้หดตัวลงถึงร้อยละ 32 และ 37 ตามลำดับ
สาเหตุหลักคาดว่ามาจากการที่การผลิตรถยนต์นั่งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่ายอดขายในประเทศ ทำให้มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่งในช่วงปี 2556 ของทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียหดตัวลงประมาณร้อยละ 8 และ 6 ตามลำดับ ทำให้การนำเข้ารถยนต์นั่งจากไทยลดลง นอกจากนี้ การที่ทั้ง 2 ประเทศนี้ เพิ่มการนำเข้าจากแหล่งนำเข้าอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยต่อมูลค่าตลาดรวม โดยเฉพาะอินโดนีเซียนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่องจนลงมาเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 และมีโอกาสที่จะลดลงต่อเนื่องได้อีก โดยประเภทรถยนต์นั่งที่ไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กความจุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,500 ซีซี เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในกลุ่มนี้ในอินโดนีเซียและมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งแบบแฮทช์แบ็ก 5 ประตู รถยนต์อีโคคาร์ และรถยนต์อเนกประสงค์ราคาประหยัด
ด้านตลาดส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ปี 2556 ไทยส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (HS code: 8704) ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 10,428 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงจากปีก่อนหน้านั้นประมาณร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศจากผลของโครงการรถยนต์คันแรกทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกลดลงไปในช่วงที่ผ่านมา แม้จะปรับดีขึ้นแล้วในปี 2556 แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ โดยปัญหาดังกล่าวในปีนี้คาดว่าจะหมดไป และกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกน่าจะปรับเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดในประเทศมีทิศทางที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดโดยรวมจะหดตัวลง แต่เมื่อดูรายประเทศที่ส่งออกแล้ว ก็จะเห็นว่าสามารถแบ่งกลุ่มตลาดส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ได้ดังนี้
ตลาดหลักเดิมที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว นำโดยออสเตรเลียเช่นเดียวกับตลาดส่งออกรถยนต์นั่ง โดยเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดกว่า 2,580 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ทั้งหมดของไทย ตามมาด้วยซาอุดิอาระเบีย ซึ่งไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ด้วยมูลค่า 1,180 ล้านดอลลาร์ฯ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ไปออสเตรเลียและซาอุดิอาระเบียขยายตัวกว่าร้อยละ 3 และ 4 ตามลำดับ
ตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์จากไทยไปสูง และเพิ่มขึ้นอย่างมากสวนทางกับตลาดที่หดตัวลง ได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เปรู อิรัก อัลจีเรีย และเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ติดอันดับกลุ่ม 20 ประเทศแรก ที่ไทยส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปมีมูลค่าสูง และเพิ่งมีการขยายตัวของการส่งออกแบบก้าวกระโดดในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักคือทั้งการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถปิกอัพ ที่สำคัญระดับโลกอยู่แล้ว และการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC ยังทำให้ความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ส่งผลให้มีการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์บางรุ่นของค่ายรถมายังไทย รวมถึงได้มีการวางสถานะให้รถเพื่อการพาณิชย์บางรุ่นของไทยเป็นรถเพื่อการทำตลาดระดับโลกด้วย
ตลาดหลักเดิมที่หดตัวลงในปี 2556 โดยในช่วงปีที่ผ่านมา การส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ไปยังหลายประเทศที่เป็นตลาดหลักเดิมของไทย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน ชิลี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้มีการหดตัวลงทุกตลาด
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ตลาดหลักเดิมเหล่านี้ในปี 2556 หดตัวลง สวนทางกับแนวโน้มการลงทุนของค่ายรถที่ต่างมุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงให้รถที่ผลิตจากไทยหลายรุ่นเป็นโมเดลเพื่อทำตลาดระดับโลก อาจเนื่องมาจากในปี 2555 ค่ายรถยนต์ต่างพยายามเร่งผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกมาสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ หลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในไทยช่วงปลายปี 2554 ส่งผลให้การส่งออกรถเพื่อการพาณิชย์ในปี 2555 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในลักษณะก้าวกระโดด และเมื่อเข้าสู่ปี 2556 ซึ่งการใช้กำลังการผลิตเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิมดังกล่าวปรับลดลงจากปี 2555 แต่ก็ยังเป็นมูลค่าที่สูงกว่าปีก่อนๆ หน้านั้นอยู่ดี