คมนาคม เตรียมเสนอ 5 แผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานฯปี 58-65 งบ 3 ล้านลบ.ต่อคสช.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 12, 2014 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมหัวหน้าหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมข้อมูลแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ในภาพรวมทั้งหมด ก่อนที่จะประชุมร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจในวันนี้ (12 มิ.ย.)

โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมเดิมที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า 10 สาย การปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินของกรมทางหลวง (ทล.) ถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนรอบนอกและการขนส่งสินค้าเกษตร การก่อสร้างท่าเทียบเรือและการขุดลอกร่องน้ำ เป็นต้น

“ยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมีความชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ให้แต่ละหน่วยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง บอกเหตุผลความจำเป็นของโครงการ วงเงินลงทุน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมเสนอทีมด้านเศรษฐกิจ ส่วนเงินลงทุน จะต้องหารือกับทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักบริหารหนี้สาธารณะในลำดับต่อไป"นายสมชัยกล่าว

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสนข.กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ซึ่งจะยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มจากแผนเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วจะดำเนินการในพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์นี้จะถือเป็นแผนแม่บทที่มีโครงการรวม ทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จากเดิมที่ไม่ได้ใส่โครงการทางอากาศไว้ ส่วนการลงทุนนั้น หน่วยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะสามารถใช้เงินลงทุนของตัวเองได้ ดังนั้นในส่วนโครงการที่เป็นของหน่วยงานราชการนั้นหลังจาก คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาแล้วจะต้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเพื่อจัดสรรงบประมาณอีกครั้ง

โดยกระทรวงคมนาคมได้จัดแผนออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. ยุทธศาสตร์รถไฟ จะมีโครงการรถไฟระหว่างเมือง เช่น รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 1.16 แสนล้านบาท คือ 1.ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม.วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท 2.มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท3.ถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท 4.นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท

โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ เป็นงานปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว 2.โครงการติดตั้งเครื่องกั้นถนนเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้น 3.โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ และ4.โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม

โครงการก่อสร้างทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,364 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คือ 1.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. 2.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. 3.สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 339 กม. 4.ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. 5.ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. และ 6.ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม.

และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 696 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ พ.ร.บ.2 กู้เงิน คือ 1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. 2.บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. และ 3.ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง ระยะทาง 15 กม.

2. ยุทธศาสตร์ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯและปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย ถนนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

3. ยุทธศาสตร์ถนน เช่น โครงการถนนเชื่อมภูมิภาค เชื่อมระหว่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 ระดับ เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) และโครงการทางพิเศษเชื่อมภูมิภาค 5 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-พระราม 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

4. ยุทธศาสตร์ทางน้ำ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการขุดลอกร่องน้ำ การบำรุงรักษาร่องน้ำ 5.ยุทธศาสตร์ทางอากาศ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการจัดจราจรทางอากาศ และการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส โดยเฟส 1 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างหรือศึกษา วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เฟส 2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2559-2560 วงเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท และจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการที่ต่อเนื่องมาจากเฟสแรกอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเฟส 3 คือโครงการที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นจะนำเสนอในแผนโครงการเฟส 2 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะแล้งเสร็จ ในปี 2559 โดยจะเสนอเส้นทางที่มีความพร้อมคือ กรุงเทพ-พิษณุโลก หรือ กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย เส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ