"ปีนี้คงโตในอัตราไม่สูง แต่ไม่ไหลลง ปีหน้าจะโตดีหน่อย" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มองว่าเครื่องจักรที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เริ่มกลับมาแล้ว เช่น การจับจ่ายใช้สอย รวมถึง การใช่จ่ายด้านการคลังของภาครัฐ หลังจากคาดว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 จะสามารถเริ่มใช้ได้ทันในเดือน ต.ค.57 ส่งผลให้เครื่องจักรนี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่คงจะไปส่งผลดีในปีหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกอาจจะยังเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่โดดเด่นนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวแบบอ่อนๆ ส่วนภาคการลงทุนมองว่าภาคเอกชนคงจะรอดูความชัดเจนในเรื่องของนโยบายอีกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องการลงทุน
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 18 มิ.ย. คาดว่าจะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงไป หลังจากในไตรมาส 1/57 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ แต่จากนี้ไปมองว่าแนวโน้มจะปรับตัวได้ดีขึ้น
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2% นั้น มองว่าอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และไม่ได้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก ในทางกลับกันกลับมีเงินทุนไหลเข้ามาจากต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุน ซึ่งเห็นได้จากตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในบางช่วง และมีการขายออกในปริมาณที่ไม่มาก ขณะที่ตลาดพันธบัตรก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวล
"นโยบายการเงินของประเทศในปัจจุบันมีทิศทางที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตและฟื้นตัวได้ดี โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งดี ทุกอย่างไม่มีอุปสรรค และพร้อมจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้"นายประสาร กล่าว
ขณะที่ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนหลังเกิดรัฐประหารเกิดความผันผวนในช่วงสั้นๆ เท่านั้น และหลังจากนั้นก็กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลายสถาบันก็ไม่ได้มีการมองประเทศไทยในแง่ร้าย ดังนั้น เชื่อว่าการแก้ปัญหาในระยะสั้นจะผ่านไปด้วยดี แต่สิ่งที่สำคัญคือการทำงานในระยะปานกลางที่จะต้องแก้ปัญหาจุดอ่อนทางเศรษฐกิจให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ส่วนการจัดทำโรดแมปในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น นายประสาร กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่โรดแมป แต่อยู่ที่การดำเนินนโยบายที่มีเหตุมีผล อย่างเช่น หากราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ตันละ 8 พันบาท การจะเข้าไปรับซื้อหรือจำนำก็ควรทำในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่การรับซื้อในราคาสูงถึงตันละ 15,000 บาท ดังนั้น ทุกอย่างอยู่ที่การปฏิบัติ
"ต่อให้แผนจะสวยหรูเพียงใด หากการปฏิบัติไม่สมเหตุสมผลก็จะทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจถ้าเป็นแบบสมเหตุสมผล จะเรียกความเชื่อมั่นได้ดีที่สุด"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
สำหรับปัจจัยเรื่องราคาพลังงานนั้นคงไม่มีอะไรมากดดันมาก เพราะราคาตลาดโลกในช่วงนี้ไม่สูง และคิดว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานน่าจะเป็นการสะสางปัญหาเก่าๆ ที่ค้างอยู่