ทั้งนี้ เมื่อการปรับลดดอกเบี้ยมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารกสิกรไทยมองว่า การที่เงินบาทอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่านั้นจะเป็นปัจจัยเชิงบวก เนื่องจากช่วยหนุนความสามารถด้านการแข่งขันการส่งออกของไทยให้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้คาดแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปีจะอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวได้แข็งแกร่งขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งการจ้างงานที่หายไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจได้กลับมาแล้ว ดังนั้นจึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะคงการชะลอ QE อย่างต่อเนื่องจนทำให้มาตรการ QE จะสิ้นสุดลงภายในสิ้นปีนี้
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ได้เพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้นนั้น จะทำให้เม็ดเงินส่วนนี้ไหลกลับเข้ามาลงทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศที่ได้รับผลดีมากสุดคือ อินเดีย ที่ได้รับแรงหนุนจากข่าวดีเรื่องการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี แม้ยุโรปจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินได้ แต่จีนไม่สามารกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการเช่นนี้ได้ การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณชัดเจนมากขึ้น โดยภาคอสังหาริมทรัพย์มีความน่ากังวลมากสุด แต่ทั้งนี้เชื่อว่าสถานการณ์ในจีนจะไม่กลายเป็นวิกฤติลุกลามขนาดใหญ่เหมือนวิกฤติซับไพรมในสหรัฐฯ เนื่องจากทางการจีนมีความสามารถมากพอที่จะเข้าควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลาม นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริโภคเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวให้เห็น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะต่อไปได้
ด้านน.ส.ปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากการทำรัฐประหารในช่วงปลายเดือนพ.ค. ส่งผลให้ผู้บริโภคและนักลงทุนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันสถาบันจัดอันดับเครดิตหลายแห่งได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้เช่นเดิม และให้แนวโน้มที่มีเสถียรภาพ ซึ่งทำให้ลดความกังวลของนักลงทุนต่างชาติลงได้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะมาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยดูจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.ที่กลับมาเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน, 2.โครงการลงทุนต่างๆ ที่จะเริ่มขับเคลื่อนได้หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีการแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอ, 3.การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ หลังจากเป็นที่แน่นอนแล้วว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 จะเริ่มใช้ได้ทันในเดือนต.ค.57 และ 4.การส่งออกของไทยที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักเริ่มดีขึ้น ทั้งสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะทำให้มีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น
"หลังจากที่รัฐบาลกลับมามีอำนาจการใช้จ่ายอีกครั้ง ทำให้เห็นมาตรการหลายอย่างออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการระยะสั้นสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ค่อนข้างดี และช่วยหยุดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้" น.ส.ปารีณา กล่าว
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในการลงมือดำเนินนโยบายยังมีอยู่ ซึ่งยังสร้างความไม่แน่นอนในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความท้าทายของประเทศที่แท้จริงอยู่ที่การปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง