นิด้าโพลชี้ชาวบ้านหนุนเดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อแต่ปรับราคาตามกลไกตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 13, 2014 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คสช. กับ การแก้ไขปัญหาชาวนา" ต่อการดำเนินการโครงการจำนำข้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.35 ระบุว่า ควรดำเนินการต่อไป แต่ปรับราคาข้าวให้เป็นไปตามกลไกตลาด (ราคาตลาดโลก) รองลงมา ร้อยละ 22.95 ระบุว่า ควรยุติโครงการรับจำนำข้าว ร้อยละ 17.49 ระบุว่า ควรดำเนินการต่อไปแบบเดิม ร้อยละ 0.27 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น ควรปรับราคาให้สูงขึ้น ควรได้รับเงินจากการจำนำในทันที และมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มงวด และร้อยละ 2.94 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่ คสช. ควรดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายข้าวที่จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.08 ระบุว่า ควรดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร รองลงมา ร้อยละ 34.70 ระบุว่า ควรดำเนินโครงการประกันราคาข้าวเปลือก ร้อยละ 18.03 ระบุว่า ควรดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ร้อยละ 0.55 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น ควรช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยและลดต้นทุนการผลิต มีแหล่งเงินทุน เพิ่มช่องทางการตลาดในการกระจายส่งออกข้าว เพิ่มพูนทักษะความรู้ให้แก่เกษตรกร

ท้ายสุดเมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนต่อ คสช. ในการช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรในรูปแบบต่าง ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.95 ระบุว่า เกษตรกรจะต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและการผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง รองลงมา ร้อยละ 16.77 ระบุว่า การลดต้นทุนในการผลิต ร้อยละ 16.02 ระบุว่า ช่วยให้เกษตรกรไม่มีหนี้สินและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 15.23 ระบุว่า ควรมีแหล่งหรือมีตลาดที่แน่นอนในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 11.81 ระบุว่า การมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ร้อยละ 9.88 ระบุว่า ราคาสินค้าทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 5.81 ระบุว่า เกษตรกรสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ร้อยละ 0.26 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น คุณภาพของผลผลิต ใช้ระบบสหกรณ์มาบริหารการผลิต จัดกองทุนพัฒนาด้านการเกษตร พัฒนาพันธุ์ข้าว เพิ่มพูนความรู้ให้แก่เกษตรกร และร้อยละ 0.28 ระบุว่า ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

นิด้าโพลทำการสำรวจดังกล่าวระหว่างวันที่ 10 – 12 มิถุนายน 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,464 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการจำนำข้าวเปลือก แนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.3


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ