ทั้งนี้ กรมการท่องเที่ยวได้จัดกิจกรรมการบรรยายและการศึกษาดูงานในแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในประเด็นต่างๆ อาทิ การจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยว มาตรฐานมัคคุเทศก์ มาตรฐานโรงแรมและรีสอร์ต การบริหารจัดการและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมทั้ง การเยี่ยมชมสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนเรื่องการบริหารจัดการการโรงแรมและการท่องเที่ยว และการศึกษาเรียนรู้รูปแบบการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ตลาดการท่องเที่ยวของไทย
ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณสถานปาเลสไตน์เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวซึ่งกันและกัน เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลทางด้านการท่องเที่ยว และเสนอให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและรัฐปาเลสไตน์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ถือว่ารัฐปาเลสไตน์ เป็นประเทศในโลกอาหรับ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศอิสลามในย่านอาเซียนอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น การกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและปาเลสไตน์ในครั้งนี้ถือจึงว่าเป็นนิมิตหมายอันดีในการสานต่อความตั้งใจของทั้งประเทศไทยและอาเซียนเองในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศนอกภูมิภาค
ปัจจุบัน การท่องเที่ยวในปาเลสไตน์ได้ขยายตัวอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ จากสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลปาเลสไตน์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าปาเลสไตน์เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2551 เพิ่มเป็น 2.6 ล้านคน และ 4.6 ล้านคนในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
รัฐปาเลสไตน์ เป็นรัฐอิสระปกครองตนเองที่ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 โดยสภาแห่งชาติขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ นิยามตามพรมแดนเมื่อปี 1967 กำหนดให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในสหประชาชาติเป็น "องค์การมิใช่รัฐ" ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 1974 ซึ่งให้สิทธิพูดในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2012 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติยกระดับปาเลสไตน์จาก "องค์การผู้สังเกตการณ์" เป็น "รัฐผู้สังเกตการณ์ที่มิใช่สมาชิก" ในระบบสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นการรับรองอธิปไตยของปาเลสไตน์โดยปริยาย