สบน.-สนข.ยังไร้ข้อสรุปงบฯ ปี 58 ของคมนาคม รอ"ประจิน" เคาะ 19 มิ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 16, 2014 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การประชุมร่วมกับสบน.ในวันนี้ยังไม่สามารถสรุปทั้งวงเงินงบประมาณ และวงเงินกู้สำหรับกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ยังไม่สามารถจัดสรรเงินลงทุนแต่ละโครงการให้สอดคล้องกับปีงบประมาณปี 58 ได้ ทำให้ตัวเลขวงเงินการใช้งบประมาณของคมนาคมในแต่ละปีไม่ชัดเจน และทำให้กระทบทุกโครงการ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (17 มิ.ย.) กระทรวงคมนาคมจะหารือกับสำนักงบประมาณเกี่ยวกับงบลงทุนอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนองบประมาณของโครงการ ภายใต้กระทรวงคมนาคมให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ พิจารณางบประมาณปี 58 ของกระทรวงคมนาคม

ด้านนายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ในส่วนกรมทางหลวงได้นำเสนอโครงการเร่งด่วนในงบประมาณปี 58 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการใช้ทางหลวง 1)การบูรณะทางหลวงที่เป็นสายทางหลัก ใช้วงเงินประมาณ2 หมื่นล้านบาท เช่น ถนนเพชรเกษม โดยเฉพาะช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ที่ทรุดหนัก ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ 2) การขยายถนน 4 ช่องจราจรเพื่อแก้ปัญหาคอขวด โดยส่วนที่เร่งด่วน ได้แก่ ตาก-แม่สอด ใช้งบราว 3-4 พันล้านบาท กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ใช้งบราว 2.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้เสนองบประมาณในปี 58 ไว้ที่ 1 แสนล้านบาท จากงบประมาณปี 57 มีวงเงิน 5หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนและงบประจำ

นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศแล้ว หลังจากนี้ต้องรอให้สำนักงบประมาณไปหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอีกครั้งวันพรุ่งนี้(17 มิ.ย.) เพื่อสรุปตัวเลขว่าแต่ละหน่วยงานมีความต้องการใช้วงเงินลงทุนตามแผนงานของแต่ละหน่วยงานเป็นจำนวนเท่าใด หลังจากนั้นจะสรุปว่าจำเป็นต้องมีการกู้เงินอีกเท่าใด ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีข้อสรุปให้ได้ก่อนที่จะนำเสนอต่อ คสช. พิจารณาในวันที่ 19 มิ.ย.นี้

สำหรับเพดานการกู้เงินในปี 58 อยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่ายรวม หรือคิดเป็น 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ คสช.จะกู้เพียง 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลให้ในปีงบประมาณ 58 จะขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท รวมทั้งการค้ำประกันเงินกู้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก 20% ของงบประมาณรายจ่าย ส่วนที่เหลือจะเป็นการกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเป็นการกู้เงินตราต่างประเทศ 10%

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 อยู่ที่ 2.575 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้ที่ 2.325 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ